จีน-ซาอุฯ ตาลุก สนลงทุน“แลนด์บริดจ์” พร้อมลุยท่าเรือน้ำลึก-คลังน้ำมัน

27 ต.ค. 2566 | 11:05 น.
อัพเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2566 | 11:43 น.

เอกชนลุยช่วยรัฐดึงลงทุนรุกหนัก “จีน-ซาอุฯ” ปักฐานอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่เพิ่ม ส.อ.ท.เผยค่ายรถอีวีจีนสนลงทุนไทยอีกเพียบ ขณะเมกะโปรเจ็กต์ใหม่ “แลนด์บริดจ์” สนลงทุนท่าเรือนํ้าลึก ซาอุฯพร้อมตั้งคลังนํ้ามัน ป้อนลูกค้าอาเซียน-จีน

ข้อมูลจากบีโอไอ 8 เดือนแรกปี 2566 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มี 801 โครงการ เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุน 365,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73% โดยการลงทุนจากจีนขอรับการส่งเสริมมากสุด 228 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 90,346 ล้านบาท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า การลงทุนจากจีนยังมีแนวโน้มเข้าไทยต่อเนื่อง ล่าสุดจากที่นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum For International Cooperation (BRF) ที่ประเทศจีน (17-18 ต.ค.66)ได้พบปะหารือกับผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนหลายบริษัท(กราฟิกประกอบ) เพื่อชักชวนมาลงทุนในไทย ขณะที่บีโอไอและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ของไทย ได้จัดงาน Thailand-China Investment Forum เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนจีน และบอกถึงนโยบายของไทยว่า มีอุตสาหกรรมใดบ้างที่อยากเชิญชวนทางจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม

จีน-ซาอุฯ ตาลุก สนลงทุน“แลนด์บริดจ์” พร้อมลุยท่าเรือน้ำลึก-คลังน้ำมัน

ที่ผ่านมาจีนได้เข้ามาขยายการลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ของไทย เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยจีนขอรับการส่งเสริม ลงทุนในไทยแล้ว 6 บริษัท (เช่น Great Wall Motor, BYD, SAIC Motor) ล่าสุดคือ CHANGAN AUTOMOBILE ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และเลขาธิการบีโอไอได้นำบัตรส่งเสริมไปมอบให้กับผู้บริหารของบริษัทที่จีนในการนี้ด้วย

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ในครั้งนี้มีผู้บริหารของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าของจีนรายอื่น ๆ ได้สนใจ และมาต่อคิวและขอคุยกับนายกฯ เป็นการส่วนตัวหลายบริษัท ในอนาคตจะเห็นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนจะแห่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น รวมทั้งซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่จะตามเข้ามาอีกมาก ตรงนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีมาก”

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียังได้นำเสนอแนวคิด และชักชวนนักลงทุนจีนมาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ที่คาดจะใช้เงินลงทุนถึง 1 ล้านล้านบาท เพื่อย่นระยะทาง ลดเวลาในการขนส่ง และลดความแออัดการขนส่งทางเรือในช่องแคบมะละกา โดยทางจีนสนใจจะมาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นท่าเรือนํ้าลึก ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะนักลงทุนจีนที่สนใจ แต่โครงการนี้จะช่วยดึงดูดนักลงทุนชาติอื่นด้วย เช่น ซาอุดีอาระเบียได้สนใจจะมาลงทุนสร้างคลังนํ้ามันขนาดใหญ่ เพื่อกระจายนํ้ามันให้กับลูกค้าในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงลูกค้ารายใหญ่คือจีนด้วย