แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ปลุกเศรษฐกิจภาคใต้

25 ต.ค. 2566 | 05:14 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2566 | 05:22 น.

แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ปลุกเศรษฐกิจภาคใต้ : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,934

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,934 ระหว่างวันที่ 26-28 ต.ค. 2566 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย 

*** ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้รับทราบหลักการอภิมหาเมกะโปรเจกต์ “โครงการแลนด์บริดจ์” หรือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

โดยให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ในลำดับต่อไป

*** สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) ประมาณการวงเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,001,206 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 เนื้องาน คือ 1. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง 2. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs

3. เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองฝั่งมีระยะทาง 90 กม. ทั้ง มอเตอร์เวย์  และ รถไฟ และ 4. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ

*** ส่วนรูปแบบการลงทุน จะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้สิทธิเอกชนลงทุนในการก่อสร้างและบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยการลงทุนท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 พัฒนารองรับปริมาณสินค้าจำนวน 6 ล้าน TEUs ในปี 2573, ระยะที่ 2 พัฒนารองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs ในปี 2577 และระยะที่ 3 พัฒนารองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 8 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี 2579

ด้านการลงทุนท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พัฒนาให้รถรองรับสินค้าจำนวน 4 ล้าน TEUs ในปี  2573, 8 ล้าน TEUs ในปี 2577, เพิ่มอีกขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 14 ล้าน TEUs ในปี 2579 และเพิ่มขึ้นอีอก 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี 2582

ทั้งนี้ได้มีการวางกรอบระยะเวลาการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงิน 522,844 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 118,519 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 141,716 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ 195,504 ล้านบาท, งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 60,892 ล้านบาท และค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน  6,212 ล้านบาท 

ระยะที่ 2 ลงทุนโครงการ ทั้งสิ้น 164,671 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 45,644 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 73,164 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ 21,910 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 23,952 ล้านบาท

ระยะที่ 3 ลงทุนโครงการ  228,512 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 73,221ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 115,929 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 39,361 ล้านบาท

และระยะที่ 4 ลงทุนโครงการ เป็นเงิน 85,177 ล้านบาท ประกอบด้วย ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 68,280 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 16,897 ล้านบาท

*** มีการการณ์ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง จะมีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ดังนี้ มูลค่าปัจจุบัน (NPV) 257,453 ล้านบาท, อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.35, อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 17.43%

ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางตรง 9.52%, อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 8.62%, มีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 และจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 280,000 ตำแหน่ง แบ่งเป็นระนอง 130,000 ตำแหน่ง ชุมพร 150,000 ตำแหน่ง

รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี

*** สำหรับแผนการดำเนินโครงการ หลัง ครม.รับทราบและให้ผลักดันโครงการแล้ว ช่วงเดือน พ.ย. 2566-ม.ค. 2567 กระทรวงคมนาคมจะรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ

ช่วง เม.ย.-มิ.ย. 2568 จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และเสนอ ครม.อนุมัติลงนามในสัญญาได้ในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2568 ก่อนที่จะก่อสร้างโครงการได้ในเดือน ก.ย. 2568-ก.ย. 2573 เปิดให้บริการในเดือน ต.ค. 2573

                             แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ปลุกเศรษฐกิจภาคใต้

*** ขณะที่ระหว่างการเยือนจีน ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และร่วมประชุม Belt and Road for International Cooperation (BRF) เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 ได้กล่าวถ้อยแถลงตอนหนึ่งระบุว่า ครม.ไทยเพิ่งให้ความเห็นชอบแนวทางการศึกษาและแผนการดำเนินงานโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย และมหาสมุทรแปซิฟิก

รวมถึงปรับปรุงการเชื่อมต่อในพื้นที่อันดามันทางตอนใต้ ลดเวลาการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ภายใต้แนวคิด “One Port, Two Sides” ในระยะทางทางบก 90 กิโลเมตรทางภาคใต้ของไทย

โดยหวังว่าโครงการนี้จะทำงานร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานของ Belt and Road Initiative หรือ BRI ของจีน และมีส่วนช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงในระดับโลกได้ 

*** พื้นที่ “ภาคใต้” ของไทยว่างเว้น “เมกะโปรเจกต์” ที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลมานานแล้ว หาก “โครงการแลนด์บริดจ์” สามารถเกิดได้ ก็น่าจะมีส่วนช่วยอย่างมาก ในการก่อให้เกิดความกระซุ่มกระชวยทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเกิดการจ้างงานคนในพื้นที่ และกิจกรรมอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมาก แต่การดำเนินโครงการขนาดยักษ์แบบนี้ ก็ต้องระมัดระวังอย่าให้เกิดปัญหา “ทุจริตคอร์รัปชัน” เด็ดขาด 

*** ปิดท้ายกันที่... เปิดแถลงข่าวใหญ่อลังการเพิ่งเสร็จไปไม่นาน บอสใหญ่ไอคอนสยาม สุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล ก็ประกาศเตรียมขนทัพศิลปิน-ดาราดังทั้งไทย - เทศ กว่า 40 ชีวิต มาร่วมฉลองความสำเร็จระดับโลกในงาน “ICONSIAM - The 5th Anniversary of The ICON Unrivaled” กับมหาปรากฏการณ์งานฉลองครบรอบ 5 ปีสุดยิ่งใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พ.ย. 2566 เวลา 18.00-20.30 น. งานนี้ตอกย้ำความสำเร็จระดับโลกที่ไอคอนสยามเป็น Global Destination ของนักท่องเที่ยว และความสำเร็จของพันธมิตรทุกภาคส่วนตลอด 5 ปี #ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก #ที่นี้ก็ว้าวุ่นเลย