โฆษกรัฐบาลเปิดผลวิจัย"เงินดิจิทัล 10000" ดันจีดีพีพุ่ง-หนี้สาธารณะต่ำ

29 ต.ค. 2566 | 03:59 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2566 | 03:59 น.

โฆษกรัฐบาลเปิดผลวิจัย"เงินดิจิทัล 10000" ดันจีดีพีพุ่ง-หนี้สาธารณะต่ำ หลังสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ และทีมงานเศรษฐศาสตร์นอกขนบศึกษาผ่าโมเดลคำนวณเงินงบประมาณตามนโยบายการคลังที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงเอาไว้

เงินดิจิทัล 10000 ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการสรุปความชัดเจน ทั้งเรื่องที่มาของเงิน กลุ่มคนที่จะได้รับสิทธิ์
 
โดยที่นโยบายดังกล่าวก็มีทั้งหกลุ่มที่สนับสนุน และไม่สนับสนุนให้แจกเงินดิจิทัล 10000 

ล่าสุดนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการศึกษาของนายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ และทีมงานเศรษฐศาสตร์นอกขนบที่อธิบายเรื่องผลของนโยบายต่อจีดีพี และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี โดยแสดงให้เห็นว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมีผลสำคัญต่อการกระตุ้นการเติบโตของจีดีพีได้ดีที่สุดและมีผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำสุด
 

ทั้งนี้ แผนภูมิของการศึกษาดังกล่าวพบว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยตามนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจำนวน 10,000 บาท จะสามารถกระตุ้นผลของการเติบโตจีดีพีได้สูงสุดที่ 4.73% ,5.22% ,5.61% และ 5.54% ในปีงบประมาณ 2567-2570 ขณะที่เกิดผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำสุด

โฆษกรัฐบาลเปิดผลวิจัย"เงินดิจิทัล 10000" ดันจีดีพีพุ่ง-หนี้สาธารณะต่ำ

อย่างไรก็ดี แม้การศึกษาดังกล่าวจะเป็นการทำการศึกษาเปรียบเทียบเชิงนโยบายในช่วงก่อนการเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ แต่ผ่านโมเดลการคำนวณวงเงินงบประมาณตามนโยบายสำคัญทางการคลังที่แต่ละพรรคการเมืองได้หาเสียงเอาไว้ก่อนหน้าการเลือกตั้ง โดยคาดการณ์ผลของนโยบายนั้นต่ออัตราการเติบโตของจีดีพี และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี
 

สำหรับการกำหนดนโยบายของพรรคเพื่อไทยได้ผ่านกรอบความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาท่ามกลางความท้าทายในอนาคตที่เล็งเห็นสัญญาณอันตรายว่า หากจีดีพียังคงถูกปล่อยให้เติบโตต่ำในระดับเพียงแค่ราวๆ 2% ดังเช่นในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเริ่มมีปัญหาในการดูแลผู้สูงอายุที่นับวันก็จะมีจำนวนคนมากขึ้นทุกปี 

หรือแม้แต่ความสามารถในการจ่ายเงินบำนาญข้าราชการก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงให้การเติบโตของจีดีพีขึ้นไปถึงระดับ 5% ให้ได้ ดังนั้นจึงต้องการให้เกิดการสตาร์ทเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูและพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด