นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (สอจ.ชลบุรี) และหารือแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ว่า จังหวัดชลบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 4,248 โรงงาน อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ แหลมฉบัง ปิ่นทอง ดับบลิวเอชเอ และปิ่นทอง (แหลมฉบัง) จำนวน 1,099 โรงงาน
ขณะที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 3,149 โรงงาน มีวิสาหกิจชุมชน จำนวน 620 กลุ่ม มี OTOP จำนวน 1,395 ราย อีกทั้ง ยังมีเหมืองแร่ในจังหวัดได้ประทานบัตร 31 แปลง เปิดการทำเหมือง 22 แปลง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิต หินปูน และอยู่ระหว่างต่ออายุ 6 แปลง หยุดการทำเหมือง 3 แปลง
ทั้งนี้ จ.ชลบุรี มียุทธศาสตร์การดำเนินการโดยการปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ ที่ทันสมัย และเป็นสากล
“จังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีนักลงทุนชาวต่างชาติ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป มาลงทุนเป็นจำนวนมาก และได้ดำเนินงานโครงการต่างๆ เช่นโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมในภูมิภาค โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำระบบ LINE Open Chat เป็นกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ SME ในจังหวัดชลบุรี จำนวน 1,800 ราย เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านอุตสาหกรรม
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า นายณัฏฐ์ธน สารทจีนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ยังได้รายงานถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี เมืองเศรษฐกิจชั้นนำอาเซียน นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า แลนด์มาร์ค การท่องเที่ยว สังคมคุณภาพ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG และ ESG ของจังหวัดชลบุรี
สำหรับในด้านยุทธศาสตร์นั้น ทางจังหวัดชลบุรีได้ตั้งเป้าในลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง 16% ผ่านการดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งจังหวัด โดยเฉพาะแสงสว่าง ปรับเปลี่ยนพลังงานเป็นพลังงานสะอาด จัดรูปแบบการขนส่ง และการขนส่งสาธารณะ แบบ multimodal transportation โครงการปลูกป่า 1 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 1 ป่า 1 ไร่
ส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ได้มีการตั้งค่าเป้าหมายระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับที่ 5 ภายในปี 70
อย่างไรก็ดี สอท.ชลบุรี ได้มีข้อเสนอในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี ใน 6 เรื่องดังนี้ 1.ส่งเสริมให้มีนิคมอุตสาหกรรมของรัฐ เนื่องจากราคาที่ดินในการนิคมของภาคเอกชนมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นอุปสรรคปัญหาของนักลงทุนที่ต้องการสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม
2.ต่อยอดพัฒนาเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านเทคโนโลยี เงินทุนหมุนเวียน และการตลาด ซึ่งการต่อรองกับผู้ประกอบการที่เป็นแบรนด์ของสินค้าให้มีการเลือกใช้ผู้ประกอบการไทยเป็นหลัก
3.การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางพี่ช่วยน้อง (big brother) ในการช่วยบริหารจัดการแบบมีผลประโยชน์ร่วมกัน
4.การพัฒนาการตรวจประเมินรับรองและสร้างมาตรฐาน เรื่อง carbon neutrality เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
5.การพัฒนาฝีมือแรงงานภาคอุตสาหกรรมและการยกระดับฝีมือแรงงานตามคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งยังไม่ตรงเป้าหมายตามความต้องการ
และ 6.ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีวัตถุดิบภายในประเทศ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย พืชสมุนไพร เป็นต้น
นอกจากนี้ ทาง สอท. ยังได้เพิ่มเติมในเรื่อง FTA ( Free Trade Area) เขตการค้าเสรี ซึ่งเป็นการทำความตกลงทางการค้าของประเทศ โดยขอให้มีการเปิดเขตการค้าเสรีให้มากยิ่งขึ้น ควรมีการพัฒนากฎหมายให้ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และภาครัฐควรมีการรวบรวมฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลมาพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า หลังจากได้รับทราบข้อเสนอแนะของทางภาคเอกชนแล้ว จะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปหารือกับคณะรัฐมนตรีต่อไป
“นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้ง หรือน้ำหลาก เรามีนโยบาย และเตรียมการวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาว วันนี้ในฐานะรัฐมนตรี ขอเป็นพื้นที่ในการรับฟังทุกปัญหา และเร่งประสานคณะทำงาน รวมถึงหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล ให้ดำเนินการเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ปัญหาต่างๆ ถูกแก้ไขโดยเร็วที่สุด และยืนยันในคำมั่นว่า จะส่งทุกสารทุกเรื่องที่ได้รับการนำเสนอมานี้ นำไปผลักให้เป็นนโยบายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมให้ยั่งยืนและมั่งคั่งมั่นคง”