กนอ.เล็งปี 67 ขาย/เช่า ที่ 3 พันไร่ จับตา“ไต้หวัน-เยอรมัน”เพิ่มลงทุน

01 พ.ย. 2566 | 04:33 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2566 | 04:33 น.

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านการเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนของผู้ประกอบการไทย และนักลงทุนจากต่างประเทศ

โดยในยุคของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศนโยบายเปิดรับการลงทุนอย่างเต็มที่ โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนแผนโรดโชว์ ควบคู่ไปกับการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อดึงดูดการลงทุน

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถึงแนวทางการดำเนินงาน และแผนในปี 2567 ที่มีความน่าสนใจและมีนัยที่สำคัญยิ่ง

เป้าขาย/เช่าที่ดินปีหน้า 3,000 ไร่

วีริศ ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2567 กนอ.ได้ประมาณการณ์ยอดขาย/เช่าที่ดินไว้ที่ 3,000 ไร่ โดยเป็นพื้นที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) 2,700 ไร่ และนอกอีอีซี 300 ไร่ สูงกว่าเป้าหมายในปี 2566 ที่วางไว้ 2,500 ไร่ เพราะดูจากภาพรวมการดำเนินงานสะสมในปีงบประมาณ 2566 ของ กนอ.มีการยอดการขาย /เช่าที่ดินเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะเติบโตไปจนถึงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2567

ล่าสุดมีกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ชาวไต้หวันเดินทางมาหารือกับกนอ. เพื่อเจรจาสร้างนิคมอุตสาหกรรมสำหรับไต้หวันโดยเฉพาะ ประมาณ 600-1,000 ไร่ โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอัจฉริยะที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทย และยังมีกลุ่มนักลงทุนจากยุโรปที่ให้ความสนใจ จากปัญหาด้านราคาพลังงานและค่าแรงสูงมากในยุโรป เช่น บริษัทจากเยอรมันที่ยืนยันว่ามีหลายบริษัทที่พร้อมเข้ามาขยายการลงทุนในไทย

สำหรับในปีงบประมาณ 2567 กนอ.จะเร่งเดินหน้าดึงการลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้าลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ประกาศดึงการลงทุนจากต่างประเทศครั้งใหญ่ ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสูง และอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตหลัก สนับสนุนชัพพลายเชนในประเทศ อาทิ รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในจากญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังปรับสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เวลานี้จึงต้องเน้นประคองการลงทุนภายใต้สิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์นักลงทุนเพื่อมุ่งสู่อีวีต่อไป

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ กนอ.จะมุ่งเน้นดึงการลงทุนที่สอดรับกับนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจไปสู่ 4 ภาค การขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) หลังจากมีการดำเนินการใน จ.ปัตตานี แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบจึงต้องยุติลง

“ปีงบประมาณ 2566 (ก.ย. 2565- ต.ค. 2566) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5,693 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 182% เกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยเป็นพื้นที่ขาย / เช่าในอีอีซี 4,753 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 939 ไร่”

โชว์แผนโรดโชว์ปี 67

นายวีริศ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) ประจำปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค. 2566  30 ก.ย. 2567) ในเบื้องต้น กนอ.เตรียมไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแผนช่วงเดือนธ.ค ตามคำเชิญของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) และช่วงปลายปี กนอ.ยังมีแผนโรดโชว์ที่ประเทศเยอรมนีเพื่อดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี และพลังงานไฮโดรเจน

ทั้งนี้ ในต้นปี 2567 จะกำหนดแผนโรดโชว์ที่ชัดเจนอีกครั้ง มั่นใจว่าในปี 2567 การลงทุนไทยยังขยายตัวได้ดี จากยังได้รับความสนใจทั้งจากนักลงทุนญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ยุโรป โดยเฉพาะผลจากการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปประเทศต่างๆ เพื่อกระจายการลงทุน ลดความเสี่ยง(จากสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐ) ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ

กนอ.เล็งปี 67 ขาย/เช่า ที่ 3 พันไร่ จับตา“ไต้หวัน-เยอรมัน”เพิ่มลงทุน

“ปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ยังเข้ามายังไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากโครงการวีซ่าพำนักระยะยาว (LTR Visa) ที่ใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากยอดขาย/เช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งปีที่ผ่านมา กนอ.ตั้งเป้ายอดขาย/เช่าพื้นที่ไว้ที่ 2,500 ไร่เท่านั้น แต่ผู้พัฒนานิคมฯ และกนอ.กลับสร้างยอดขาย / เช่าพื้นที่นิคมฯได้ถึง 5,693 ไร่ โดยปัจจัยหลักจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบกับแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ได้รับความสนใจทั้งจากผู้ประกอบการและภาคเอกชนในการร่วมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม”

ลุยต่อยอดพัฒนานิคมฯ

สำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา กนอ.ได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก จ.ระยอง พื้นที่ 1,546 ไร่ มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมเกษตร, 
ยานยนต์สมัยใหม่, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เคมีภัณฑ์, พลาสติกและกระดาษ นอกจากนี้ยังขยายพื้นที่อีก 4 นิคมฯ เดิม ได้แก่ อาร์ ไอ แอล, ปิ่นทอง (โครงการ 5), อัญธานี และ
ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด รวม 2,078.49 ไร่

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนานิคมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) ก่อสร้างไปแล้ว 70.02% โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการภายในปี 2567 ขณะที่โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 65.09% โดยจะเปิดดำเนินการได้ปลายปี 2567