"พิมพ์ภัทรา" ยันรัฐบาลเดินหน้าสร้างแลนด์บริดจ์ดัน ศก.ใต้-ประเทศไทย

24 ก.ย. 2566 | 00:39 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2566 | 01:51 น.

"พิมพ์ภัทรา" ยันรัฐบาลเดินหน้าสร้างแลนด์บริดจ์ดัน ศก.ใต้-ประเทศไทย หลังเอกชนแสดงความกังวลหากพับโครงการ พร้อมสั่งการ กนอ. เร่งศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่รองรับ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน(จ.ชุมพร จ.ระนอง) หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการจากการริเริ่มของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจภาคใต้และเศรษฐกิจประเทศ 

ทั้งนี้ จากการหารือกับภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร สภาหอการค้าจังหวัดชุมพร และสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพรได้แสดงความกังวลต่อกระแสข่าวชะลอโครงการแลนด์บริดจ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เร่งศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อรองรับแลนด์บริดจ์และสอดรับกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือเอสอีซี (SEC) 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช 

โดยจะเน้น 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

พิมพ์ภัทรา ยันรัฐบาลเดินหน้าสร้างแลนด์บริดจ์ดัน ศก.ใต้-ประเทศไทย

สำหรับการขับเคลื่อยกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา กระทรวงอุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 

  • การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับเหมืองแร่และป่าไม้ เพราะแร่บางชนิดอยู่ในพื้นที่ป่าเขา 
  • การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่ 
  • การเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยเฉพาะภัยแล้งในพื้นที่ที่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ 

อย่างไรก็ดี จะเร่งส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยการสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะทุกจังหวัดทั่วประเทศ

“เอกชนได้สะท้อนถึงอุปสรรคกฎหมายต่อการประกอบธุรกิจ ดังนั้นจะเร่งแก้ไขอุปสรรคต่างๆ อาทิ กฎระเบียบ การเข้าถึงแหล่งทุน โดยให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการเพิ่มทักษะการประกอบการให้เป็นมืออาชีพ โดยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ"