กทม. ดันแผนปรับปรุงทางเท้า-ระบบฟีดเดอร์ ปลุกเส้นทางสัญจรคนกรุง

02 พ.ย. 2566 | 08:40 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2566 | 08:48 น.

กทม.กางแผนนโยบายปรับปรุงทางเท้า 16 เส้นทาง เริ่มภายในสิ้นปีนี้ ลุยนำร่องระบบฟีดเดอร์ 7 เส้นทางใหม่ พร้อมเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพรถโดยสาร BRT คาดเริ่มดำเนินการปี 67

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวในงานสัมมนา  4th ITIC FORUM 2023 :Power of Connectivity and Smart Mobility ช่วงแนวคิดใหม่ในการสัญจรของคนกรุง ว่า การเดินทางที่ดี ถือเป็น 1 ในนโยบายของกทม. ที่มุ่งเน้นให้ผู้คนเดินทางให้เกิดความสะดวกสบายและปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้พบว่าในกรุงเทพฯมีโครงข่ายรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง โดยภายในปี 2571 จะมีโครงข่ายรถไฟฟ้า จำนวน 11 เส้นทาง 297 สถานี ระยะทาง 466.1 กม.  แต่ปัจจุบันยังพบว่าปัญหาการเดินทางของประชาชน คือ การเชื่อมต่อจุดหมายปลายทางของการเดินทาง (Last Mile Connectivity) เนื่องจากบางเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้ายังไปไม่ถึง

 

ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพรถโดยสาร BRT นั้น โดยกทม.ยังมีแผนเดินหน้าโครงการต่อ เบื้องต้นเป็นการปรับปรุงรูปแบบสถานีให้สามารถขึ้นลงได้ทั้ง 2 ฝั่ง,เพิ่มความถี่,ปรับจราจรร่วม และอีวี ทั้งนี้ยังมีการเพิ่มโครงข่ายให้บริการมากขึ้น เช่น การเพิ่มสถานีบริเวณสาทร,พระราม 4 คาดว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในปี 2567 

นอกจากนี้ในปัจจุบันกทม.ได้นำร่องให้บริการรถฟีดเดอร์ในเส้นทางใหม่เพื่อสำรวจปริมาณความต้องการใช้ จำนวน 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.BTS สนามเป้า-กทม.2 ถนนดินแดง มีผู้โดยสารใช้บริการ 635 คนต่อวัน 2.ARL ลาดกระบัง-เคหะร่มเกล้าฯ มีผู้โดยสารใช้บริการ 868 คนต่อวัน 3.MRT บางขุนนนท์-ตลาดน้ำ มีผู้โดยสารใช้บริการ 1,353 คนต่อวัน 4.ร.ร.เขตดุสิต-ฝั่งธนบุรี (ถนนสิรินธร) มีผู้โดยสารใช้บริการ 265 คนต่อวัน และ 3 เส้นทางในช่วงเทศกาล ประกอบด้วย 1.BTS สนามกีฬาฯ-สวนลุมพินี มีผู้โดยสารใช้บริการ 7,139 คนต่อวัน 2.MRT วัดมังกร-บางลำพู วัดบวรฯ มีผู้โดยสารใช้บริการ 769 คนต่อวัน 3.MRT สามยอด-ท่าเรือเทเวศร์ มีผู้โดยสารใช้บริการ 1,843 คนต่อวัน

 

สำหรับนโยบายในด้านการเดินทางของกทม.คือ การเชื่อมต่อการเดินทางจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดหมายปลายทาง โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดและ Sharing Mobility ขณะนี้กทม.ได้มีการทำแพลตฟอร์ม Traffic Fongdu ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนถึงปัญหาต่างๆของประชาชนในกรุงเทพฯ ประมาณ 300,000 เรื่อง พบว่าปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาส่วนใหญ่ คือ เรื่องปัญหาการเดินทางถนนและปัญหาบนทางเท้า
 

“เมื่อมองถึงการเดินทางเราต้องไม่ลืมถึงความสำคัญในการเดินทางด้วยเท้า คือ เมืองเดินได้เดินดี (Walkable City) โดยกทม.มีนโยบาย BKK Trail ซึ่งเป็นการก่อสร้างทางวิ่งในระยะทาง 500 กิโลเมตร (กม.) ภายในกรุงเทพฯ โดยมีสมมุติฐานว่าหากเราสามารถทำทางเท้าที่วิ่งได้ จะทำให้ประชาชนและผู้พิการสามารถใช้ทางเท้าเหล่านี้เดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

ทั้งนี้กทม.มีแผนจะปรับปรุงทางเท้าใหม่ โดยใช้มาตรฐานใหม่ในการก่อสร้างทั้งวัสดุผิวทางเท้า,คอนกรีตเสริมเหล็กหนาประมาณ 10 ซม.และทรายหยาบบดอัดแน่น จำนวน 16 เส้นทาง ระยะทาง 80 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งจะดำเนินการได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อแก้ปัญหาพื้นกระเบื้องสึกกร่อนหรือทรุดตัวเมื่อมีการใช้ของบรรทุกบนทางเท้า รวมทั้งยังมีการปรับทางเข้า-ออก อาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง

 

ที่ผ่านมากทม.ได้ดำเนินการปรับปรุงทางเท้าในปี 2565 ระยะทาง 151 กม. ขณะที่ในปี 2566 กทม.ได้รับแจ้งปัญหาในการปรับปรุงทางเท้า ระยะทาง 180 กม. ,ก่อสร้างทางเท้าใหม่ ระยะทาง 89 กม. และก่อสร้างทางเท้าตามแนวเส้นทาง BKK Trail ระยะทาง 40 กม. รวมทั้งจะมีการเร่งรัดการคืนพื้นผิวจราจรตามแนวรถไฟฟ้าต่างๆ 

 

นายวิศณุ กล่าวต่อว่า กทม.ยังมีแผนดำเนินการก่อสร้างทางเดินสำหรับกันแดดและการฝน (Covered Walkway) เพื่อเชื่อมต่อป้ายรถประจำทางและสถานีรถไฟฟ้า โดยจะพิจารณาว่ามีเส้นทางใดบ้างที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นได้ภายในปลายปีนี้หรือภายในต้นปี 2567

 

“นโยบายการเดินทางจากจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดนั้น กทม.ได้ดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้เพื่อให้เกิดทางเลือกหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนแต่ละคน เช่น รถเมล์ไฟฟ้า ,EV TUKTUK Sharing, EV Car Sharing, Bike Sharing, และ E Scooter Sharing คาดว่าจะทำให้เกิดความชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้ โดยกระจายตามพื้นที่ในจุดต่างๆในกรุงเทพฯ”

 

ขณะเดียวกันกทม.ยังมีโครงการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ (ATC) โดยเป็นการนำข้อมูล Probe Data มาใช้ในพื้นที่โครงการ ซึ่งจะช่วยลดความล่าช้าการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนลง 10% และลดความล่าช้าการเดินทางนอกชั่วโมงเร่งด่วนลง 30% ซึ่งมีการเปิดทดลองระบบเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา โดยนำร่องดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 4 ถนน 13 ทางแยก