วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ เตรียมเดินทางลงพื้นทีจังหวัดชลบุรี และระยอง เพื่อตรวจเช็คการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
โดยกำหนดการนายกฯ และคณะจะเดินทางด้วยรถไฟ โดยออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ในช่วงเช้าเวลา 8.45 น. ไปยังสถานีรถไฟแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยขบวนรถไฟ โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง 15 นาที คาดว่าจะถึงประมาณ 11.00 น.
โดยนายกฯ จะตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบังและพุดคุยประเด็นศักยภาพของพื้นที่สำหรับการรองรับ สินค้าอุตสาหกรรมหนักในการนำเข้าและส่งออกของท่าเรือแหลมฉบัง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง
จากนั้นในช่วงบ่าย นายกฯ ออกเดินทางจากท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เพื่อตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเพื่อติดตามระบบการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำให้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ต่อจากนั้นนายกฯ เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง เมื่อเสร็จสิ้นการเยี่ยมชมแล้ว นายกฯ จะเดินทางกลับมาจังหวัดชลบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ณ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE2) ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการ EEC ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นั้น ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ไปแล้วเป็นครั้งแรก โดยที่ประชุมได้พิจารณาร่างแผนดำเนินการในระยะ 1 ปี (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567)
พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายเร่งด่วนภายใน 99 วัน ลงมือทำจริง เพื่อดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 คลัสเตอร์หลัก ทั้งการแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) BCG และ บริการ
พร้อมทั้งเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะได้ข้อยุติการเจรจาและแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินโครงการฯ ระหว่าง รฟท. และ เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน (บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด) ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ภายในเดือนมกราคม 2567 เอกชนคู่สัญญาจะพร้อมเริ่มก่อสร้าง อย่างเป็นทางการ
เช่นเดียวกับพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน สร้างความพร้อมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี โดยเดือนธันวาคม 2566 อีอีซี จะออกประกาศ กพอ. เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ครอบคลุมด้านภาษี และมิใช่ภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน เช่น
สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร สิทธิการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด รวมไปถึงการอนุญาตอยู่อาศัยในระยะยาว (EEC Long term VISA) เป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษทั้ง ผู้มีความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ ตลอดจนคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ เป็นต้น