แนะรัฐปลุกเศรษฐกิจอวกาศ หนุนยิงฝูงดาวเทียมคนไทย

04 พ.ย. 2566 | 10:52 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2566 | 11:05 น.

ไทยสูญเงินซื้อข้อมูล ภาพถ่ายดาวเทียมต่างประเทศปีละ 60,000 ล้านบาท สตาร์ทอัพเทคโนโลยีอวกาศไทย “เอ็นบีสเปซ” แนะไทยควรมีฝูงดาวเทียม ป้องกันข้อมูลรั่วต่างประเทศ จี้รัฐ กำหนดจัดซื้อดาวเทียม-ภาพถ่ายดาวเทียม ผู้ประกอบการในประเทศ หนุนสร้างอีโคซิสเต็มเศรษฐกิจอวกาศไทย

มูลค่าเศรษฐกิจอวกาศทั่วโลกปี 65 ประมาณ 16 ล้านล้านบาท สำหรับไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง มากกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี

เป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริมธุรกิจและสตาร์ทอัพที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศยุคใหม่เช่นธุรกิจดาวเทียมขนาดเล็ก และไทยควร มีดาวเทียมมากกว่า 1 หรือ 2 ดวง หรือมีฝูงดาวเทียม ที่สามารถนำข้อมูลมาใช้บริหารจัดการประเทศ ลดการจัดซื้อดาวเทียม และข้อมูลดาวเทียมจากต่างประเทศ

แนะรัฐปลุกเศรษฐกิจอวกาศ หนุนยิงฝูงดาวเทียมคนไทย

โดยนายอภิวัฒน์ จิรวัฒนผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอ็นบีสเปซ จำกัด สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เศรษฐกิจอวกาศทั่วโลก และไทย มีการเติบโตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไทยมีการจัดซื้อข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจากต่างประเทศปีละประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่าไทยควรมีฝูงดาวเทียมของตัวเอง 10-20 ดวง เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหลไปยังต่างประเทศ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมเพื่อการวางแผนและคาดการณ์ล่วงหน้าที่แม่นยำมากขึ้น

แนะรัฐปลุกเศรษฐกิจอวกาศ หนุนยิงฝูงดาวเทียมคนไทย

“รัฐต้องเข้ามาสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศ ไม่ใช่มีเฉพาะดาวเทียมไทยคม หรือ ธีออส 1 และ 2 เพียง 3-4 ดวง ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานรัฐไม่ต่ำกว่า 24 แห่ง ไม่นับหน่วยงานความมั่นคง ที่มีความจำเป็นต้องใช้ดาวเทียม และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อการวางแผน จัดการ และพัฒนาประเทศ แต่ที่ผ่านมาใช้ข้อมูลดาวเทียมจากต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศรู้หมดว่าเราใช้ข้อมูลอะไร”

 โดย เอ็นบีสเปซ เป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่มีความสามารถออกแบบ และประกอบ ดาวเทียมขนาดเล็ก แบบ Nano Satellite หรือ Cube Satelliteที่มีนํ้าหนัก 1-10 กิโลกรัม เป็นรายแรกของไทย โดยภารกิจของดาวเทียมขนาดเล็ก แบบ Nano Satellite ใช้เพื่อเก็บข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อใช้ในการบริหารจัดการต่างๆ เช่น การทำแผนที่ การสำรวจทรัพยากร การวิเคราะห์พื้นที่การเกษตร การระบาดของโรคพืช การป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆหรือใช้สื่อสารข้อมูลช่องแบนด์วิดช์แคบ อย่างอุปกรณ์ IoT

 ในขณะที่ระบบพื้นฐานในการออกแบบและสร้างดาวเทียม ที่พัฒนาขึ้นมา สามารถต่อยอดพัฒนาไปสู่การออกแบบ และพัฒนาดาวเทียม แบบ Micro Satellite นํ้าหนัก 50 กิโลกรัม ซึ่งจุดเด่นของ เอ็นบีสเปซ ราคาถูกกว่าดาวเทียมต่างประเทศเกือบครึ่งหนึ่ง โดยดาวเทียมที่พัฒนาขึ้นใช้วัสดุในประเทศประมาณ 60% ส่วนอีก 40% นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากไทยผลิตเองไม่ได้ เช่น ชิปพิเศษ หรือ แผงโซลาร์เซลล์เกรดอวกาศ นอกจากนี้ยังสามารถปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการในประเทศ รวมไปถึงการดูแลหลังการขาย หรือ การเซอร์วิสต่างๆ

 “รัฐบาล ควรมีนโยบายให้หน่วยงานรัฐ ที่มีแผนลงทุนซื้อข้อมูล หรือ ภาพถ่ายดาวเทียมจากต่างประเทศ มีการลงทุนจัดซื้อดาวเทียมของตัวเอง และจัดซื้อดาวเทียมที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อลดการสูญเสียเงินไหลออกไปนอกประเทศ และสร้างให้เกิด ระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็ม เศรษฐกิจอวกาศขึ้นมาในประเทศไทย ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศ หรือ การลงทุนด้านวัสดุ และอุปกรณ์สำหรับดาวเทียม

 นายอภิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่าตามแผนที่วางไว้ 5 ปี (เริ่มปี 64) นั้นต้องการ ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ประมาณ 20 ดวง โดยโมเดลธุรกิจของเอ็นบีสเปซ นั้นมีทั้งการพัฒนาดาวเทียมของตัวเองขึ้นมาแล้วให้บริการขายข้อมูลดาวเทียม และการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยหลังจากที่ผ่านมา 2 ปี ช่วงต้นปีที่ผ่านมาสามารถขายระบบพื้นฐาน ที่เป็นส่วนประกอบหลักในดาวเทียมให้กับเกาหลีใต้

 นอกจากนี้ยังเป็นผู้ร่วมในการพัฒนาดาวเทียมแนคแซท 2 (KNACKSAT-2) ดาวเทียมเพื่อการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดย KNACKSAT-2 เป็นโครงการดาวเทียมคิวบ์แซท (CubeSat) ขนาด 3U (30 x 10 x 10 ซม.) มีรูปแบบเป็น Ride Sharing Platform หรือการแชร์พื้นที่ใช้สอยบนดาวเทียมร่วมกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการทำงาน ในห้องปฎิบัติการทดสอบ ที่องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) คาดว่าจะขึ้นสู่วงโคจรผ่านยานอวกาศดรากอนของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ประมาณไตรมาส 2 ปี 67

นายอภิวัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่าขณะนี้นักลงทุน กำลังดูความสำเร็จของดาวเทียม KNACKSAT-2 โดยขณะนี้ได้รับการติดจากนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้เชื่อว่าภายในระยะ 3 ปี จะสามารถทยอยส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 20 ดวง โดยคาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนราว 500 ล้านบาท