นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการที่จะเข้าไปส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยหนึ่งในมาตรการ คือ การลดขั้นตอนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือที่เรียกว่า VAT Refund เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในกรณีดังกล่าว
ทั้งนี้ ได้มีการเรียกกรมสรรพากร และกรมศุลกากรมาหารือถึงแนวทางการลดขั้นตอนการคืนภาษีดังกล่าว โดยแนวทางที่ได้หารือนั้น มีทั้งการจัดให้มีจุดให้บริการคืนภาษีเพียงจุดเดียว ซึ่งจะให้บริการพิธีการตรวจสินค้าจากกรมศุลกากรและการคืนภาษีของกรมสรรพากรมาไว้ที่จุดเดียวกัน จากปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต้องผ่านพิธีการตรวจสินค้าจากศุลกากรก่อน จากนั้น จึงไปขอคืนภาษีที่จุดให้บริการของกรมสรรพากรอีกจุดหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ยังได้พิจารณาข้อเสนอในเรื่องการเพิ่มวงเงินสินค้าที่จะต้องสำแดง หรือได้รับการตรวจปล่อยจากกรมศุลกากร แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว และรวมถึงการเปิดให้มีจุดให้บริการตรวจสินค้าและคืนภาษีเพียงจุดเดียวด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ จากนั้น จึงจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ
“ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจะต้องต่อแถวและใช้เวลานานกว่าที่ขั้นตอนการตรวจสินค้าและการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ซื้อในประเทศและเตรียมนำออกนอกประเทศจะแล้วเสร็จ เราก็นำมาพิจารณาว่า จะช่วยลดขั้นตอนดังกล่าวได้อย่างไร เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความประทับใจและอยากกลับมาเที่ยวเมืองไทยอีก”
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือการเพิ่มวงเงินของสินค้าที่ไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากรจากปัจจุบันสินค้ามูลค่าไม่เกิน 5,000 บาท เป็น 2 หมื่นบาท ส่วนมูลค่าสินค้าที่ต้องนำสินค้าไปสำแดงเพื่อขอคืนภาษีกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจาก 1 หมื่นบาท กำลังพิจารณาให้เพิ่มเป็น 4 หมื่นบาท เป็นต้น
สำหรับเงื่อนไขการขอคืนภาษีในปัจจุบันนั้น ผู้โดยสารต้องมียอดซื้อไม่น้อยกว่า 2,000 บาท/ร้าน/ครั้ง ผู้โดยสาร 1 ราย ซื้อของมูลค่าไม่เกิน 5,000 บาท สามารถไปขอรับคืนภาษีจากเจ้าหน้าที่สรรพากรโดยไม่ต้องผ่านพิธีการทางศุลกากร
ส่วนของที่ต้องนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สรรพากร 10 รายการ ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 หมื่นบาทขึ้นไป ได้แก่ เครื่องประดับ ทองรูปประพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา มือถือ แล็บท็อบหรือแท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด และของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป
ทั้งนี้ นอกจากการเตรียมมาตรการอำนวยความสะดวกในการคืนVAT Refund แก่นักท่องเที่ยวแล้ว กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการส่งเสริมการช้อปปิ้งในไทยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย โดยแนวทางหลัก คือ การลดภาษีสินค้าแบรนด์เนม
อย่างไรก็ดี นโยบายศึกษาการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม เช่น กระเป๋า เครื่องแต่งกาย นาฬิกา เครื่องสำอางหรูจากต่างประเทศ ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากประเมินว่าการลดภาษีแบรนด์เนมอาจไม่ตอบโจทย์กระตุ้นดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศเท่าไร
เพราะชาวต่างชาติที่เข้ามาส่วนใหญ่ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อชอปปิงซื้อสินค้าแบรนด์เนมในไทย แต่จะเน้นเข้ามาท่องเที่ยววัฒนธรรม เที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากกว่า ซึ่งลูกค้าของแบรนด์เนม ส่วนมากจะเป็นชาวไทย และชาวจีนเป็นหลักเท่านั้น