อุตสาหกรรมซีรีส์วาย (Y Series) เป็นอุตสาหกรรมที่นำเสนอรูปแบบความรักที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการหยิบยกประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมมาสะท้อนให้เห็นภาพ ไม่ต่างจากแนวทางการนำเสนอผลงานละครชาย-หญิงแต่อย่างใด ซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า LGBTQ+ ที่เราเข้าใจ และไม่ได้มีเพียงแค่ความสัมพันธ์ชายรักชายหรือหญิงรักหญิงอีกต่อไป ทั้งนี้ ซีรีส์วายไม่ใช่ตลาดน้องใหม่ แต่เป็นตลาดที่มีมานานแล้ว และไม่ได้เป็นที่พูดถึงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี หรือฝั่งอเมริกาเองก็มีอุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีมาร่วม 10 กว่าปีแล้ว เพียงแต่ในสมัยก่อนไม่ได้มีพื้นที่และสปอตไลท์ส่องถึง ทำให้เหล่าผู้ผลิตผลงานในวงการซีรีส์วายต้องดิ้นรนทำกันเองมาตลอด แต่เพราะผู้คน สังคม และโลกที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทำให้อุตสาหกรรมซีรีส์วายก้าวเข้ามาเป็นอีกหนึ่ง Soft Power สร้างชื่อให้กับประเทศไทย และโด่งดังไกลระดับโลก
เมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน K-Expo Thailand 2023 สำหรับ B2C ขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นงานจัดแสดงอีเวนต์ที่รวมทั้งคอนเทนต์ฝั่งไทยและเกาหลีใต้เข้าด้วยกัน และหนึ่งในบูธของงานคอนเทนต์ฝั่งไทยในวันที่ 12 พฤศจิกายน 66 มีอีเวนต์ที่ถูกจัดขึ้นโดยสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่ให้เหล่าผู้ผลิตผลงานซีรีส์สร้างชื่อมากมายมาร่วมการเสวนาในหัวข้อ "เขียน Story แบบ Y Y Hi-Soft Power" ประเทศไทยจะดันซีรีส์วายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้หรือไม่
ทั้งนี้ ได้มีการร่วมล้อมวงเล่าไทม์ไลน์อุตสาหกรรมซีรีส์วายที่ใครต่างมองว่าประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด พร้อมเผยความจริงเกี่ยวกับมุมมองการทำงานในวงการนี้ร่วมเกือบ 10 ปี สู่อุตสาหกรรมที่ถูกยกให้เป็น Soft Power ของไทยในวันนี้ นำทีมโดย
คุณออฟ นพณัช ชัยวิมล (ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายผลิต ผู้กำกับการแสดง โปรดิวเซอร์ และคนเขียนบท จาก GMMTV) ตัวอย่างผลงานกำกับการแสดง - เพราะเรายังคู่กัน, นิทานพันดาว, แค่เพื่อนครับเพื่อน, พระจันทร์มันไก่ และล่าสุด Last Twilight ภาพนายไม่เคยลืม
อาจารย์โย อภิรักษ์ ชัยปัญหา (CEO บริษัท ALLTHIS Entertainment ผู้จัด / Executive producer / Head of Script Writer / Acting Coach) ตัวอย่างผลงานเขียนบทซีรีส์ - คาธ The Eclipse, 609 Bedtime Story และล่าสุด คิดถึงวิทยา
ครูมาย เพียงไพฑูรย์ สาตราวาหะ (Team Drama Director บริษัท CREWAVE นักเขียนบทละคร, ครูสอนการแสดง และโปรดิวเซอร์) ตัวอย่างผลงานเขียนบทซีรีส์ - Cutie Pie นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ, Naughty Babe ดื้อเฮียก็หาว่าซน และล่าสุด My Golden Blood เลือดนายลมหายในฉัน
Q. ความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ที่มองว่าซีรีส์วายนั้น ไม่มีสาระ เน้นนำเสนอแต่ความจิ้น / พร้อมตีแผ่ความต่างระหว่างซีรีส์วายกับซีรีส์ชาย-หญิง
ทั้งสามเผยไปในแนวทางเดียวกันว่า มีการนำเสนอประเด็นสังคมอยู่ในซีรีส์วายทุกเรื่อง ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม และมีการเล่า message ที่แข็งแรง โดยสิ่งที่พอจะทำได้คือการถ่ายทอดสาระต่างๆ ผ่านผลงานที่ทำออกไป อาทิ สมรสเท่าเทียม ควบคู่ไปกับการนำเสนอเนื้อหาที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายคนดู
หากละครสามารถมีพลังในการจูงใจและสื่อสารให้ความหมายบางอย่างกับผู้ชมได้ ก็พร้อมยืนหยัดสร้างผลงานที่ให้อะไรกับสังคม การเขียนบทไม่ได้ต่างกับละครทั่วไป เพียงแต่จะมีเรื่องราวที่คนดูซีรีส์วายคาดหวัง ควบคู่กับความสนุกของซีรีส์
Q. ความนิยมของซีรีส์วายในไทยและต่างประเทศ?
อาจารย์โยเผยว่า เมื่อก่อนซีรีส์วายเป็นวรรณกรรมใต้ดิน ไม่เคยได้ขึ้นมาบนดินเหมือนวงการอื่นเลย จะออนแอร์ซีรีส์วายได้ต้องรอฉายดึกๆ หลัง 4 ทุ่มเป็นต้นไป แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เราสามารถฉายซีรีส์วายในช่วง Prime Time (20.00น. - 22.00น.) ซึ่งเป็นตารางเวลาเดียวกับการออนแอร์ของละครทั่วไป อีกทั้งยังมีซีรีส์วายผลิตออกมาหลากหลายให้ผู้คนได้รับชมทุกวัน
คุณออฟกล่าว จากระยะเวลา 7 ปีที่ทำงานในวงการนี้มา วงการซีรีส์วายมีการเติบโตที่ก้าวกระโดดขึ้นทุกๆ ปี และไม่ได้เป็นเพียงแค่ละครของประเทศไทยหรือในตะวันออกเฉียงใต้แล้ว แต่มันขยับขยายดังไปไกลถึงแถบยุโรปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ครูมายเสริมเพิ่มเติมว่า นอกจากซีรีส์วายจะเริ่มมีพื้นที่ได้รับเข้าชิงรางวัลบนเวทีเดียวกับละครปกติ และสามารถคว้ารางวัลในงาน 28th Asian Television Award และ คมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 19 ที่ผ่านมา โดยไม่ได้มีการแบ่งแยก genre แล้ว ยังทำให้อีกหลายประเทศไกลๆ ที่เริ่มรู้จักและติดตามซีรีส์วายไทย รวมถึงนักแสดงไทย จนมีการไปจัดคอนเสิร์ตและแฟนมีตติ้งในต่างประเทศหลังจากซีรีส์จบร่วม 10 ประเทศอีกด้วย
Q. หมุดหมายสำคัญ และภาพรวมตลาด Series Y ในไทยนั้น เติบโตไปขนาดไหนแล้ว?
ทั้งสามเผย คงต้องประเมินไปเรื่อยๆ ว่าทิศทางต่อไปจะเป็นอย่างไร ประกอบกับตอนนี้มีผู้เล่นใหม่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ซึ่ง ณ ตอนนี้มีซีรีส์วายถูกผลิตออกมาหลายเรื่องให้ได้ดูทุกวัน อย่างซีรีส์วายที่จะออนแอร์ในเดือนพฤศจิกายนนั้น มีถึง 19 เรื่อง แสดงให้เห็นว่าในตลาดมีผู้ชมอยู่เรื่อยๆ ฝั่งผู้ผลิตเองก็ต้องผลิตออกมาเรื่อยๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเริ่มขยายไปยังตลาดต่างประเทศในแถบเอเชีย ตลอดจนตลาดแถบยุโรปแล้ว
อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญคือ การทำให้ผู้คนได้รับการเยียวยาจิตใจจากตัวละครและซีรีส์ที่ทำ นับเป็นกำลังใจและแรงบันดาลใจในการผลิตผลงานต่อไป รวมถึงสร้างความตระหนักที่มากขึ้นในการพยายามสื่อสารและส่งสารออกไปให้ดี เพราะสิ่งที่มีค่าที่สุดของเราคือ “คนดู”
Q. มุมมอง Soft Power กับ ซีรีส์วายไทย คืออะไร?
อาจารย์โยกล่าว หลายคนอาจสับสนกับ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่ถ้าจะเป็นอำนาจต้องทำโดยรัฐ ต้องมีวิธีการ มีทรัพยากร ถึงจะยึดอำนาจผู้อื่นได้ แต่สำหรับเราในตอนนี้ คือการทำงานศิลปะตามวิจารณญาณของเรา โดยที่ไม่ได้รับรู้ว่าผลงานจะไปตอบโจทย์ใครบ้าง ซึ่งได้มีการใส่ความเป็นไทยเข้าไปเพิ่มขึ้น แต่ไม่รู้ว่ามันเรียกว่าเป็น Soft Power หรือไม่
ผลงานศิลปะของเรา ไม่ใช่แค่งาน Local แล้ว แต่เป็นงาน Global
Soft Power เป็นการสร้างมูลค่ากับสิ่งที่มีให้เติบโต เป็นเรื่องของทุนวัฒนธรรม นโยบายต่างประเทศ และแนวคิดยุทธศาสตร์ ต้องมีวิธีการที่ไม่บังคับขู่เข็ญ แต่ต้องละมุนละม่อม เราทำงานสร้างสรรค์ของเรา แล้วเกิดมีการเล็งเห็นแนวทางบางอย่าง เห็นมูลค่าในงานของเรา แล้วจะทำอย่างไรกับมัน จะมีนโยบายสนับสนุนอย่างไรนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถตอบได้ แต่ตอนนี้ "เรายังกระเสือกกระสนทำทุกอย่างกันเองอยู่"
คุณออฟเสริมว่า ไม่มีใครบอกเราเลยว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเป็น Soft Power เราแค่ทำสิ่งที่เป็นตัวเรา เป็นรากเหง้าที่เราสั่งสมกันมา แล้วบังเอิญมันไปตรงกับสิ่งที่คนต้องการ "ไม่สนับสนุนไม่เป็นไร แต่อย่ามายุ่งกับเรา" เราในฐานะคนทำงานและในฐานะที่เป็นสื่อ ต้องรับผิดชอบสิ่งที่นำเสนออยู่แล้ว
ถ้าภาครัฐอยากสนับสนุน อยากให้เข้ามาในเชิงนโยบาย อย่างเช่น เรื่องของภาษี แต่ต้องไม่เป็นการเข้ามาจำกัดและชี้นำว่างานเราต้องประกอบด้วยสิ่งนี้ ถึงจะเหมาะกับการเป็น Soft Power ไทย ไปสู่ระดับโลก "เราทำงานแบบสร้างสรรค์ อิสระ ไม่อยากให้มาครอบหรือจำกัดเรา" ครูมายกล่าว
ทั้งนี้ ได้ฝากถึงคนหรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่อง Soft Power ว่า อุตสาหกรรมซีรีส์วายก็ถือเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยเช่นเดียวกัน พร้อมเชิญชวนให้ลองมาดูที่ตึก GRAMMY ว่าปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาที่ตึกเพื่อเช็กอิน และมองเป็นหมุดหมาย Landmark ที่นักท่องเที่ยวที่สนับสนุนวงการซีรีส์วายไทยมาเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทุกวัน
ซึ่งนับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการขึ้นป้ายหรือจัดทำจอ led ในสถานที่ต่างๆ อย่างที่ตึก MBK หรือบริเวณจุดเช็กอินต่างๆ ก็มีการโปรโมทซีรีส์และนำเสนอสิ่งที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมซีรีส์วายแล้ว จะเห็นได้ว่า
ในระยะเวลาเพียง 7 ปี วงการซีรีส์วายก็สามารถเดินทางมาได้ไกลมากๆ และจะยังคงมุ่งมั่นต่อไป
ที่มา : สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์