นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยว่า การเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยกำหนดเงื่อนไขต้องมีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาทนั้น หากใครจะถอนเงินในตอนนี้เพื่อจะเข้าร่วมโครงการคงไม่ทันแล้ว เพราะการตรวจสอบจะดูข้อมูลย้อนหลังในปี 2566
สำหรับระยะเวลาของการตัดยอดบัญชีเงินฝาก เพื่อพิจารณาว่าเป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่นั้น ที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า จะเริ่มตรวจสอบว่ามีเงินในบัญชีตั้งแต่เดือนกันยายน 2566
ส่วนคนที่มีรายได้เกิน 7 หมื่นบาท และมีเงินเก็บเกิน 5 แสนบาท รัฐบาลได้ออกโครงการ e-Refund สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งหากใช้เต็มจำนวนจะได้เงินคืนประมาณ 1 หมื่นบาท เทียบเท่ากับเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เช่นกัน
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ต้องรอกระบวนการของทางคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องกฎหมายก่อน ส่วนการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้เงื่อนไขครอบคลุมมากขึ้นนั้น ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการปรึกษาเรื่องขั้นตอนทางกฎหมายให้เรียบร้อย ซึ่งก็เข้าใจว่าก็ย่อมมีเสียงที่เห็นด้วยและเสียงที่เห็นต่าง ถือเป็นเรื่องปกติ พร้อมยืนยันว่ากฎหมายจะสามารถป่านเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้
“เราก็มีหน้าที่ทำตามขั้นตอนของกฎหมายครบถ้วน พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนทุกรูปแบบ และจากที่ดำเนินการมาตั้งแต่แรกจะเห็นได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนบางส่วน ให้เป็นไปตามเสียงที่ได้รับฟังมา โดยรัฐบาลจะพยามทำให้โครงการนี้เป็นประโยชน์ที่สุด และเป็นไปตามกรอบของกฎหมายทุกประการด้วย”
ส่วนประเด็นที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการเริ่มใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ในช่วงเดือนเมษายน 2567 เพื่อรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น นายจุลพันธ์ ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะยึดตามกรอบของกฎหมายเป็นหลัก โดยกรณีที่เร็วที่สุด และไม่มีอุปสรรคใด ๆ จะสามารถใช้ได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2567
นอกจากนี้กรณีที่ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ยกเหตุผลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโตไม่ทันนั้น รมช.คลัง กล่าวว่า มิติมันต่างกัน คุณศิริกัญญา อาจจะเห็นถึงความจำเป็น และความหนักหน่วงของสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งรัฐบาลก็มีมิติของเรา ความเดือดร้อนของประชาชนมันถึงจุดแล้ว และเห็นทิศทางการเจริญเติบโตของประเทศเป็นปัญหา
แต่สุดท้ายก็มีขั้นตอนตามกฎหมาย เราเองก็มีหน้าที่ในมุมของรัฐบาล ซึ่งจะต้องนำเสนอขั้นตอนทุกอย่างให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายแล้วต้องบอกเหตุผลและความจำเป็นในมุมมองของเราด้วย