“หมอมิ้ง” การันตี พรบ.กู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต ฝ่าด่านหิน ไม่มีแผนสอง

15 พ.ย. 2566 | 04:01 น.
อัพเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2566 | 04:19 น.

สัมภาษณ์พิเศษ “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต การันตี การออกกฎหมาย พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ไม่สะดุดฝ่าด่านหินเข้าสภาได้

โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้ข้อสรุปชัดเจนเรื่องแหล่งเงินที่จะเอามาใช้ในโครงการแล้ว โดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แถลงข่าวด้วยตัวเองว่า รัฐบาลจะออกพรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการแจกเงินดิจิทัลให้กับประชาชน 50 ล้านคนทั่วประเทศ 

ดังนั้นเพื่อให้รู้ถึงแผนการทำงานของรัฐบาลกับการขับเคลื่อนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ใช้วงเงินมหาศาลกว่า 5 แสนล้านบาท ฐานเศรษฐกิจ มีโอกาสสัมภาษณ์ “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เล่าให้ฟังถึงแผนงาน และความจำเป็น เช่นเดียวกับเหตุผลของการจัดเตรียมเงินก้อนใหญ่เพื่อเอามาใช้ในโครงการ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นตามแผนภายในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ 

นพ.พรหมินทร์ แสดงความมั่นใจว่า การออกพรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านรอบนี้ เป็นทางเลือกสำคัญและท้ายที่สุดน่าจะผ่านด่านหินไปได้ จนสามารถผลักดันกฎหมายออกมา เพื่อเป็นแหล่งเงินในการทำโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

ส่วนการชดเชยในอนาคตรัฐบาลก็มีแนวทางการตั้งงบประมาณ 3 ปี เพื่อจ่ายเงินคืน โดยแนวทางการกู้เงินนี้ ยอมรับว่าได้ผ่านการหารือกับหน่วยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยเฉพาะการปรึกษาผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

“หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

“วิธีที่คลีนที่สุด คือ การกู้เงิน เพราะการเป็นผู้แทนราษฎรหรือเป็นรัฐบาลเมื่อเข้ามาก็มีหน้าที่ออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหา ถือว่าเป็นภารกิจโดยตรงของคนที่จะมาบริหาร และเราก็ตรงไปตรงมา ถ้าจะออกอะไรก็ต้องศึกษาให้รอบคอบ คุยกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นผู้ที่ดูกฎหมายก่อนว่าจะทำยังไงให้ทำให้ได้ ออกกฎหมายให้ถูกต้อง ทำให้สะอาด เหมือนการออกกฎหมาย 2 ล้านล้าน เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยก่อนหน้านี้ จะใช้เงินก้อนใหญ่ก็ต้องทำให้ถูกและให้เห็นชอบในสภา”

 

สำหรับด่านแรกของการออกกฎหมายต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา นั้น นพ.พรหมินทร์ ยอมรับว่า การพิจารณาในช่วงนี้ไม่มีเหตุผลอะไรที่กฤษฎีกาจะตีตกกฎหมาย เพราะกฤษฎีกานั้น เป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของรัฐบาล ไม่ใช่คนอนุมัติ แต่จะช่วยแสดงความเห็น หรือแนะนำถ้าหากมีปัญหา และหาทางแก้ไข และที่ผ่านมารัฐบาลก็สอบถามไปแล้วว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ว่าทำอย่างไรถึงถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด

ทั้งนี้เมื่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจสอบรายละเอียดของ พรบ.กู้เงิน เสร็จสิ้น ได้คำตอบยังไงแล้ว ขั้นตอตต่อจากนี้จะนำเรื่องเข้าไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม หารือถึงการผลักดันเรื่องนี้ต่อไป แล้วเมื่อได้ข้อสรุปชัด ๆ จึงเสนอเข้าครม.ตามขั้นตอน และส่งร่างกฎหมายเข้าสู่สภาเป็นด่านต่อไป

 

“หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

สำหรับไทม์ไลน์ ณ ปัจจุบัน รัฐบาลวางกรอบว่า ขั้นตอนการตีความโดยกฤษฎีกา จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปจะนำเข้าสู่รัฐสภาช่วงต้นปี 2567 หากไม่มีเหตุสะดุดการจัดเตรียมงบประมาณ และการเปิดให้ประชาชนจะได้เริ่มใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปีหน้า

“ณ ตอนนี้ เชื่อมั่นว่า จะไปได้ ส่วนการเตรียมแผนสองไว้หรือไม่นั้น คงไม่มี เพราะเรามองในอนาคตหากไม่ทำจะทำให้โอกาสหายไป รัฐบาลมอง Winner attitude ทุกปัญหามีทางออก ต้องทำทางออกด้วยความมั่นใจได้ดีที่สุด และเราคิดว่าทำได้และต้องทำให้ได้ เพราะรัฐบาลมีไว้เพื่อการแก้ปัญหาของประเทศ แต่ถ้ากฎหมายถูกตีตกด้วยสภาก็เป็นอีกเรื่องนึง แต่ตอนนี้มั่นใจว่า เราเป็นเสียงส่วนใหญ่ และสามารถรวบรวมเสียงได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา”

 

“หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

ส่วนการมองว่าเป็นการหาทางลงนั้น นพ.พรหมินทร์ ยอมรับว่า คงไม่ใช่ พร้อมกับยอมรับว่า ด้วยระบบและข้อหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ตอนนี้ การตัดสินใจเลือกเส้นทางการกู้เงิน เป็นทางที่ดีที่สุดได้ฉันทานุมัติแบบระบบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยืนยันถึงการผลักดันโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อีกครั้งว่า โครงการนี้มีความสำคัญที่รัฐบาลต้องผลักดันออกมา เพราะเมื่อย้อนไปดูสถิติตัวเลข และการประเมินแนวโน้มเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ ยังต้องเจอกับปัญหาอีกหลายอย่าง จนกลัวว่าประเทศไทยจะกลายเป็น “จนเรื้อรัง” และจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเงินหายไปจากระบบ ด้วยวิธีการเติมเงินเข้าไปในระบบ

โดยเชื่อว่า การทำโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีส่วนผลักดันให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ในปี 2567 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีก 1-1.5% และเกิดเงินหมุนอยู่ในระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง อย่างน้อย 3.3 รอบ ตั้งแต่มีการเติมเงินเข้าไปในระบบช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป 

ขณะเดียวกันเงินนี้จะอยู่ในระบบต่อ หากร้านค้าไม่มีการถอนเงินออกไป โดยเงินจะอยู่ยาวไปจนถึงปี 2570 ก็น่าจะช่วยดูแลเศรษฐกิจต่อไปได้ ซึ่งแนวทางที่ว่านี้ มองว่า น่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้เฉลี่ยปีละ 5% ตามที่ได้ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้

“ตอนนี้ต้องเร่งทำโครงการออกมาเพื่อให้มารองรับกับพายุลูกข้างหน้า ซึ่งเห็นได้ชัดว่ากระทบกับเศรษฐกิจไทย เพราะถ้าไม่ทำ ก็เหมือนว่าเรารู้ว่าข้างหน้าจะเกิดวิกฤตอย่างต้มยำกุ้ง แต่เราไม่เร่งแก้ไขอะไรเสียก่อน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้าย