รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์นโยบายและมาตรการสำคัญที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ของประเทศสำคัญ พบว่ามียุทธศาสตร์และมาตรการสนับสนุนอย่างชัดเจน ทั้งด้านภาษีและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้เพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับเป้าหมายการเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าของโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อ้างอิงจากการคาดการณ์ขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ว่าในปี 2023 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคัน จากยอดขาย 10 ล้านคันในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 โดยจีนเป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดของโลกในปี 2022 จำนวน 5.9 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ 58 ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าโดยรวมของโลก ขณะที่ประเทศไทย ข้อมูลจากกรมขนส่งทางบก พบว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (BEV: Battery Electric Vehicle) ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2023 อยู่ที่ 66,919 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 300 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้หลายประเทศทั่วโลกสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาทิ อินเดีย จัดทำแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าระดับชาติ (National Electric Mobility Mission Plan 2020: NEMMP) เพื่อส่งเสริมการซื้อยานยนต์ไฟฟ้า และการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ
ส่วนออสเตรเลีย จัดทำแผนยุทธศาสตร์รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Strategy) เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาเข้าถึงได้ พร้อมสนับสนุนระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และกระตุ้นความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่เวียดนาม จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนารถยนต์แห่งชาติ (2021-2050) เพื่อกระตุ้นการผลิตและเพิ่มปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าระหว่างปี 2030-2040
นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ได้ออกนโยบายและมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาทิ จีน ลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า นอร์เวย์ จูงใจผู้บริโภคด้วยการลดภาษี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีจดทะเบียน ภาษีศุลกากร และภาษีถนน รวมถึงให้สิทธิพิเศษทางการเงินสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ไอซ์แลนด์ มีการจูงใจทางภาษีสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงสะอาด และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับรถยนต์ไฟฟ้า และออสเตรเลีย สนับสนุนการยกเลิกภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า
ขณะที่บางประเทศส่งเสริมให้มีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาทิ สหรัฐอเมริกา ใช้งบประมาณจากกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าให้รถทุกยี่ห้อสามารถใช้ร่วมกันกว่า 500,000 จุดทั่วประเทศ รวมถึงนอร์เวย์และอินเดีย มีการสร้างสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และไอซ์แลนด์ สร้างสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และจะขยายไปยังพลังงานสะอาดและเชื้อเพลิงประเภทอื่น เช่น ไฮโดรเจน และมีเทน รวมถึงออกกฎระเบียบการก่อสร้างอาคาร เพื่อรองรับระบบและพื้นที่สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายและมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 และล่าสุด (1 พ.ย. 2023) คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ มาตรการ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี (2024 – 2027) เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยลดอากรนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปไม่เกินร้อยละ 40 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับเงินอุดหนุนไม่เกิน100,000 บาท ตามประเภทของรถและขนาดของแบตเตอรี่ ส่วนผู้ผลิตจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเพื่อชดเชยการนำเข้า ซึ่งต้องผลิตชดเชย 2 คันต่อการนำเข้า 1 คัน ภายในปี 2026 และผลิตชดเชย 3 คันต่อการนำเข้า 1 คัน ภายในปี 2027
นอกจากนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันสร้างความพร้อมด้านสถานีชาร์จซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยร่วมกับพันธมิตรตั้งเป้าเปิดให้บริการสถานีชาร์จกว่า 150 สถานี ภายในปี 2023 ขณะที่การไฟฟ้านครหลวง ได้ติดตั้งหัวจ่ายชาร์จไฟในพื้นที่ส่วนราชการและเอกชน ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
“จากแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ภาครัฐและเอกชนของไทยจะต้องมีการปรับตัวทั้งในด้านนโยบาย/มาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสนับสนุน/ส่งเสริม อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ โดยอาจนำนโยบาย/มาตรการของประเทศสำคัญและประสบความสำเร็จมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตตามนโยบายที่สนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ พร้อมทั้งเร่งวางระบบและพื้นที่การให้บริการของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นและรองรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้” นายพูนพงษ์ กล่าว