3 เดือน “เศรษฐา” ปิดดีลบิ๊กเทคโลก ลงทุนไทย 4 แสนล้าน

17 พ.ย. 2566 | 05:17 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ย. 2566 | 08:27 น.

“เศรษฐา” ปิดดีล บริษัทยักษ์ใหญ่ ดึงลงทุน 4 แสนล้าน บิ๊กเทคคอมพานีโลกรับปากตบเท้าเข้าไทย “กูเกิล-ไมโครซอฟท์-AWS” พร้อมขยายลงทุนครั้งใหญ่ ขณะยักษ์ธุรกิจจีน พร้อมแข่งลงทุนดันไทยฮับการเงิน-โลจิสติกส์ภูมิภาค หอการค้าชี้โลกแข่งดุดึงการลงทุน จี้เร่งขยาย FTA จูงใจปักฐาน

ช่วง 3 เดือนของรัฐบาล “เศรษฐา 1” ที่เจ้าตัวได้ประกาศจะทำหน้าที่เป็น “เซลล์แมน เบอร์ 1 ของประเทศไทย” ได้เร่งการทำงานและโชว์ผลงานในหลายด้าน ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน กับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ และขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน หนึ่งผลงานที่โดดเด่น และน่าจับตาความคืบหน้าที่จะเกิดผลเป็นรูปธรรมในอนาคตคือ การเจรจากับบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นผู้นำธุรกิจในสาขาต่าง ๆ เพื่อชักชวนมาลงทุนในไทย

  • ลุยดึงเทคคอมพานีโลก

ล่าสุดในโอกาสการเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปคที่สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พบและหารือกับผู้บริหารบริษัทเอกชนรายใหญ่ของสหรัฐฯหลายรายเพื่อชักชวนมาลงทุน หรือขยายการลงทุนในไทยเพิ่ม ทั้งนี้ได้พบและหารือกับผู้บริหารของ 3 บริษัทที่เป็นเทคคอมพานีระดับโลก ได้แก่ Google, Microsoft, AWS (Amazon Web Service), Western Digital (WD), ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (HP), Analog Devices,Inc (ADI) เป็นต้น รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าของโลกอย่าง Tesla และ Walmart ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกสหรัฐฯที่มีสาขากว่า 10,500 สาขาใน 20 ประเทศทั่วโลก

สรุปสาระสำคัญในส่วนของ Google ผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ และโซลูชั่นชั้นนำระดับโลก บริษัทมีแผนที่จะลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มเติมในอาเซียน โดยไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญที่บริษัทจะพิจารณาเพื่อลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์เป็นประเทศที่ 11 ของบริษัทจากทั่วโลก และเป็นแห่งที่ 4 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เบื้องต้นบริษัทได้ลงนาม MOU กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ของไทย ในความร่วมมือเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล และพัฒนาการให้บริการของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

3 เดือน “เศรษฐา” ปิดดีลบิ๊กเทคโลก ลงทุนไทย 4 แสนล้าน

Microsoft ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาแผนการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ในไทย ได้ลงนาม MOU กับรัฐบาลไทยเพื่อยืนยันความมุ่งมั่นและความพร้อมของรัฐบาลไทยในการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการให้บริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งความร่วมมือจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ

นายกรัฐมนตรีพบหารือกับผู้บริหารของ Microsoft

ในการหารือกับผู้บริหารของบริษัท Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็น Hyperscale Data Center ระดับโลก ที่กำลังลงทุนก่อสร้าง AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในไทย ด้วยงบประมาณกว่า 190,000 ล้านบาท ในระยะเวลากว่า 15 ปี นายกรัฐมนตรีได้ไปตอกย้ำและสร้างความมั่นใจว่า การลงทุนของ AWS ครั้งนี้รัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดการใช้คลาวด์ให้ครบในทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาบริการทางดิจิทัลให้แก่ประชาชน

การหารือกับผู้บริหารของ Western Digital ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) รายใหญ่ของโลกที่มีฐานการผลิตในไทย ระบุจะย้ายสายการผลิตหัวอ่าน(Recording Head) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของ HDD ทั้งหมดมาไทย

  • เทสลาให้คำตอบ Q1 ปีหน้า

ส่วนในการเข้าเยี่ยมชม บริษัท Tesla ผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานชั้นนำของโลก นายกรัฐมนตรีได้ชักชวนมาลงทุนในไทย โดยผู้บริหารบริษัทระบุไทยเป็นประเทศที่ Teslaให้ความสนใจสูงสุด คาดจะสามารถตัดสินใจได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 โดยเจ้าหน้าที่ของ Tesla จะเดินทางมาไทยเพื่อดูที่ตั้งโรงงานที่มีเอกชนไทยเสนอที่ตั้งโครงการจำนวน 3 แห่ง

หารือกับผู้บริหาร Tesla ชักชวนลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

การพบกับผู้บริหารของ HP ได้มีการหารือกันในเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษีการลงทุน และด้านศุลกากรโดยบริษัทอยากจะย้ายฐานการผลิตมาไทย โดยซีอีโอของบริษัทจะมาพบนายกรัฐมนตรีของไทยอีกครั้ง คาดจะมีข้อสรุปและมีข่าวดีภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

ขณะที่บริษัท ADI ผู้ผลิตแผงวงจรรวมระดับโลกมีความสนใจที่จะมาเปิดโรงงานในไทย ส่วน Walmart มีแผนจะเดินทางมาไทยในไตรมาสแรกปีหน้า เพื่อจัดหาสินค้าและวัตถุดิบจากไทยไปจำหน่ายเพิ่มเติมในกว่าหมื่นสาขาทั่วโลก

  • ปิดดีลดึงลงทุน 4 แสนล้าน

“ในเบื้องต้นความสำเร็จในการเดินทางเยือนสหรัฐฯของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ที่สำคัญคือ จะก่อให้เกิดการลงทุนในไทยจาก 3 บริษัทชั้นนำระดับโลกคือ Microsoft, Google และ AWS ด้วยมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อบริษัท ซึ่งเป็นเพียงแค่ช่วงเริ่มต้นของความสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการเชิญชวนบริษัทชั้นนำของโลกมาลงทุนในไทย” นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรีหารือกับผู้บริหารบริษัท AWS

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทั้ง 3 บริษัทเป็นคลาวด์เซอร์วิสที่เป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นพื้นฐานของ AI และอื่น ๆ อีกหลายหลายอย่าง ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้มีความพร้อมสำหรับรองรับธุรกิจอีกมากมายในอนาคตอันใกล้

สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อมาบอกเขาว่าประเทศไทยเปิดแล้ว และพร้อมต้อนรับนักลงทุนซึ่งไม่มีเวลาใดที่ดีเท่าเวลานี้ ที่จะสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษี ความพร้อมของพลังงานสะอาด และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและความเป็นอยู่ต่าง ๆ  ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องมาผลักดันให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่า ไทยพร้อมจะเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน

  • กูเกิลหนุนไทยยุคดิจิทัล

นางสาว รูธ โพรัท (Ruth Porat) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน ของ Alphabet และ Google กล่าวว่า การร่วมมือกับรัฐบาลไทยในครั้งนี้ มุ่งที่จะเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ใช้ระบบคลาวด์เป็นหลักเพื่อตอกย้ำพันธกิจของ Google ประเทศไทย ภายใต้แนวคิด Leave no Thai Behind

โดย Google มองเห็นศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีในการเป็นตัวขับเคลื่อนอันทรงพลังให้ธุรกิจ และชุมชน ภายใต้ความร่วมมือนี้ เราจะร่วมกันกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาการให้บริการภาครัฐแก่ประชาชนและขยายการใช้งานเทคโนโลยี AI ด้วย Google Cloud และที่สำคัญ Google จะช่วยให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการเสริมทักษะและการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีนวัตกรรมเพื่อประชาชนและธุรกิจ ทั้งนี้ เราพร้อมร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศไทยเพื่อส่งมอบโอกาสที่สำคัญให้กับคนไทย

  • โลกแข่งดุดึงการลงทุน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา GDP ไทยยังไม่สามารถเติบโตได้ถึง 5% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างเร่งเครื่องเสริมการลงทุนกันอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการต่อเนื่องคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เดินหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ให้มากและเร็วที่สุด โดยเฉพาะที่ยังค้างอยู่ เช่น ไทย-UAE, ไทย-EFTA, ไทย-ศรีลังกา,ไทย-EU, อาเซียน-แคนาดา, ไทย - ตุรกี, ไทย-ปากีสถาน เพื่อดึงการนลงทุนและขยายโอกาสส่งออก

“ไทยต้องเร่งดึงการลงทุนจากต่างชาติในธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อให้ไทยก้าวข้ามประเทศผู้ผลิตสินค้าทั่วไป สู่ประเทศที่สามารถผลิตและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการดึงดูด Talent หรือคนต่างชาติที่เก่ง ๆ หรือมีความสามารถพิเศษเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพื่อช่วยเสริมศักยภาพในอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขึ้นสูงที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ”

  • ลุ้นยักษ์จีนลงทุนแข่งมะกัน

ผู้สื่อข่าวรายงาน ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางเยือนจีน เพื่อร่วมประชุม BRI (เส้นทางสายไหมจีนเชื่อมโลก) ตามคำเชิญของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน (17-19 ต.ค. 2566) นายกรัฐมนตรีได้พบปะและหารือกับผู้บริหารบริษัทชั้นนำของจีนเพื่อดึงการลงทุนมาไทย อาทิ CITIC Group บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ของจีน เพื่อเชิญชวนมาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และให้มาตั้งสำนักงาน ภูมิภาคในไทย, CRRC Group รัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อดึงร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมขนส่ง

บริษัท Ping An ผู้ให้บริการการเงินครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยบริษัทขานรับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ให้การส่งเสริมการลงทุนสีเขียว, บริษัท Xiaomi ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีนวัตกรรมขั้นสูงที่มีไทยเป็นสำนักงานใหญ่ของภูมิภาค ยินดีที่จะขยายการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในไทย ขณะที่ Alibaba Group ผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ พร้อมขยายความร่วมมือด้านอี-คอมเมิร์ซ เทรนนิ่งสำหรับบุคลากรและแรงงานไทย คาดแต่ละบริษัทจะมีความคืบหน้าตามลำดับ

อนึ่ง ในการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของคณะภาครัฐบาลและเอกชนไทยยังได้จัดสัมมนาเพื่อเชิญชวนภาคธุรกิจของสหรัฐมาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยที่จะใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยได้มีการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนสหรัฐ 50 รายกับนักลงทุนไทย 30 ราย ซึ่งต้องติดตามรูปธรรมความชัดเจนของโครงการและความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3941 วันที่ 19 – 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566