วันนี้ (20 พฤศจิกายน 2566) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566-2567 ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นตัวเลขจริงทางเศรษฐกิจของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัว 1.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 1.8%
ทั้งนี้เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยติดลบ 3.1% ทำให้สาขาอุตสาหกรรมติดลบไปด้วย 4% ขณะที่การบริโภคภาครัฐบาล ติดลบ 4.9% เป็นผลจากการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลง 38.6% และรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัว 0.5% ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือน (มกราคม - กันยายน 2566) เศรษฐกิจไทยขยายตัว อยู่ที่ 1.9%
ส่วนแนวโน้มปี 2566 สศช.ได้ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้อยู่ในกรอบ 2.5-3% เป็นขยายตัว 2.5% ซึ่งเป็นกรอบล่างของการประมาณการครั้งก่อน โดยประเมินว่าการลงทุนภาครัฐหดตัวไปถึง 1.8% เพราะติดปัญหาเรื่องของงบประมาณแผ่นดิน โดยเฉพาะงบประมาณปี 2567 ยังไม่สามารถใช้ได้
ขณะที่ในปี 2567 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 2.7-3.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.2%
สำหรับเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัว 1.5% มีรายละเอียด ดังนี้
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน : ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง 8.1% เร่งขึ้นจาก 7.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส ตามการขยายตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวด สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
การลงทุนรวม : ขยายตัว 1.5% เร่งขึ้นจาก 0.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน 3.1% เทียบกับการขยายตัว 1.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง 2.6% เทียบกับการลดลง 1.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการลงทุนรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น และการลงทุนรัฐวิสาหกิจ
การส่งออกสินค้า : มีมูลค่า 70,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.0% เทียบกับการลดลง 5.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณส่งออกลดลง 3.1% ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 1.1%
การนำเข้าสินค้า : มีมูลค่า 65,012 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 10.7% ต่อเนื่องจากการลดลง 5.0% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการผลิตสาขาอุตสาหกรรมและการส่งออก โดยปริมาณและราคานำเข้าลดลง 10.4% และ 0.3% ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.91 แสนล้านบาท
สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง : ขยายตัว 0.9% ชะลอลงจาก 1.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวเปลือก และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม : ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 4.0% ต่อเนื่องจาก 3.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงของทุกกลุ่มการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ
สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร : ขยายตัวในเกณฑ์สูง 14.9% ต่อเนื่องจาก 15.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 7.1 ล้านคน
สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ : เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 10 อยู่ที่ 3.3% ต่อเนื่องจาก 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคบริการด้านการท่องเที่ยว
สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า : เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 อยู่ที่ 6.8% แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัว 7.4% ในไตรมาสก่อนหน้า