IMF หั่นจีดีพีไทยปี 66 เหลือ 2.7% จากเดิมที่ 3.4%

18 ต.ค. 2566 | 10:02 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2566 | 10:02 น.

IMF ปรับลดคาดการณ์ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เหลือ 2.7% จากเดิมที่ 3.4% เหตุจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความขัดแย้ง อิสราเอลปะทะกลุ่มฮามาส

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และ 2567 พร้อมระบุถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมไปถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

โดยทาง IMF ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทยในปี 2566 ลงเหลือ 2.7% จากตัวเลขเดิมที่ระดับ 3.4% และได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยในปี 2567 ลงมาที่ระดับ 3.2% จากเดิมระดับ3.6%

ทั้งนี้รายงานล่าสุดของ IMF ยังได้ระบุว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอลและปาเลสไตน์ กลุ่มฮามาส ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีการปรับลดคาดการณ์ GDP

ส่วนเรื่องราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งขึ้น มาจากความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอลและปาเลสไตน์ ยังมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นด้วย

ด้านผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ IMF เตือนว่า ความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอลและปาเลสไตน์ อาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 10% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น IMF มองว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากรัฐบาลไทยออกโครงการสนับสนุนเศรษฐกิจ และผลของราคาอาหารในภูมิภาคอาเซียนที่ปรับตัวลง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อ จากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.5%