สศช. การันตีเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้น “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ไม่ใช่พระเอก

20 พ.ย. 2566 | 06:57 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2566 | 07:44 น.

สศช. การันตีเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดไตรมาสที่ 4 ส่งออกฟื้นกลับมาบวก หนุนทั้งปี 2566 โต 2.5% ปีหน้าโต 3.2% รับถ้าอยากให้โตขึ้นอีกต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ส่วน “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ยังไม่ใช่พระเอกตอนนี้

วันนี้ (20 พฤศจิกายน 2566) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ กำลังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 จะขยายตัวได้ 1.5% แต่ในไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะดีขึ้น ทำให้ทั้งปี สศช. ประเมินเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5% ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 3.2% ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาล

“ตัวเลขเศรษฐกิจปีหน้า สศช. ยังไม่ได้คำนวณเรื่องนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไว้ เพราะต้องดูก่อนว่าสุดท้ายแล้วจะใช้วงเงินประมาณเท่าไหร่ และต้องรอคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมาย รวมทั้งยังต้องรอความชัดเจนเรื่องอื่น ๆ ทั้งรูปแบบการใช้จ่าย และร้านค้า ประกอบด้วย ส่วนในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ สศช. มองเห็นโมเมนตั้มการส่งออกปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลไปถึงภาคผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นตามมา ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดี” นายดนุชา กล่าว

นายดนุชา ระบุว่า ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี และขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาวคือ การปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร รวมทั้งการเร่งผลักดันการท่องเที่ยว การผลักดันการส่งออก ผ่านการขยายการเจรจาการค้าภายใต้กรอบเอฟทีเอมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนภาคการส่งออกให้ปรับตัวดีขึ้น ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

 

สศช. การันตีเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้น “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ไม่ใช่พระเอก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ณ ปัจจุบันการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ เลขาฯ สศช. ย้ำว่า การจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว สามารถทำได้หลายมาตรการประกอบกัน แต่ตัวหลัก ๆ เห็นว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสำคัญที่สุด เพื่อให้การส่งออก และการขยายการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวดีขึ้นในอนาคต

“ถ้าเราดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าตั้งแต่หลังโควิดเราประสบความผันผวน และความเสี่ยงจากภายนอกมาตลอด แต่เมื่อโควิดคลี่คลายก็มีเรื่องเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเร็วกว่าที่คาด ส่งผลต่อส่งออก แต่เศรษฐกิจภายในยังขยายตัวได้ดี ทั้งบริโภค และภาคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ดังนั้น โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ เพียงแต่ว่าถ้าเราจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวดีกกว่านี้ก็ต้องปรับโครงสร้างใหม่” เลขาฯ สศช. ย้ำ

 

สศช. การันตีเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้น “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ไม่ใช่พระเอก

สำหรับเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 สศช. ประเมินแนวโน้มว่า จะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% หรือประมาณ 3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก 

  1. การกลับมาขยายตัวของการส่งออก
  2. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน 
  3. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัว 3.2% และ 2.8% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.8% สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.7 – 2.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ของ GDP

 

สศช. การันตีเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้น “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ไม่ใช่พระเอก

 

สำหรับรายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้

1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย 

  • การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.2% ชะลอลงจากการขยายตัวในเกณฑ์สูง 7.0% ในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ 
  • การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะกลับมาขยายตัว 2.2% จากการลดลง 4.2% ในปี 2566 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 2,762,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% จำกกรอบวงเงิน 2,569,219 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566

2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัว 1.6% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 1.3% ในปี 2566 ประกอบด้วย

  • การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 2.8% เร่งขึ้นจาก 2.0% ในปี 2566 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของมูลค่าโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนและออกบัตรส่งเสริมการลงทุน 
  • การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะลดลง 1.8% ต่อเนื่องจากการลดลง 0.8% ในปี 2566 เนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะส่งผลให้การเบิกจ่ายมีความล่าช้า 

3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะกลับมาขยายตัว 3.8% เทียบกับการลดลง 2.0% ในปี 2566 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 3.3% เทียบกับการลดลง 3.1% ในปี 2566 และราคาส่งออกจะเพิ่มขึ้น 0.0 - 1.0% เทียบกับ 1.1% ในปี 2566 เมื่อรวมกับการส่งออกบริการคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ ในปี 2567 จะขยายตัว 6.2% เพิ่มขึ้นจาก 2.9% ในปี 2566