ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการใช้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกบรรลุเป้าหมายด้านความสามารถ ในการแข่งขันควบคู่ไปกับความยั่งยืนของประเทศ
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ตามมาตรการภาษีดังกล่าว อันเป็นผลมาจากการประชุมร่วมกันของกระทรวงการคลังกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทยให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน และกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าว
โดยกองทุนรวมนี้จะนำเงิน ไปลงทุนในกิจการที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล(Environmental, Social, and Governance หรือ ESG) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด โดยจะลงทุนในกิจการของไทยเท่านั้น
สำหรับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษี โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย
สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 (วันที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการ) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575 และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2. ยกเว้นให้ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีที่เงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากค่าซื้อหน่วยลงทุนที่ได้รับสิทธิตามข้อ 1 และผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย
“มาตรการภาษีนี้จะช่วยให้การลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น อันจะทำให้เสถียรภาพของตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น และจะทำให้ผู้มีเงินได้มีทางเลือกในการออมและการลงทุนระยะยาวเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งยังจะทำให้การลงทุนในกิจการที่คำนึงถึง ESG เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และกิจการของไทยที่ให้ความสำคัญแก่ ESG เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามไปด้วย”
ทั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ของสหประชาชาติ รวมทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
หากมีข้อสงสัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161