คนกรุงฝันค้าง "กทม." จ่อโอนรถไฟฟ้า 3 สาย 1.5 แสนล้าน ดึงรฟม.บริหารต่อ

23 พ.ย. 2566 | 04:56 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2566 | 05:03 น.

"กทม." เล็งชงคจร.ไฟเขียว โอนรถไฟฟ้า 3 สาย วงเงิน 1.5 แสนล้าน ดึงรฟม.บริหารสัญญาต่อ มั่นใจภาครัฐเดินหน้าพัฒนาระบบรางไร้รอยต่อ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า สำหรับแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน กทม.มีแนวคิดจะมอบโครงการลงทุนใหม่เพื่อพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบการลงทุน เนื่องจาก กทม.เล็งเห็นว่าชณะนี้มีปัจจัยด้านอื่นที่ต้องเร่งนำงบประมาณไปดำเนินการเพื่อประชาชน อาทิ ด้านการศึกษา และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

 

"การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟฟ้า นับเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เชื่อว่าภาครัฐจะมีงบประมาณเร่งดำเนินการอยู่แล้ว การมอบให้ รฟม.กลับไปผลักดันต่อจึงถือเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะ รฟม.จะสามารถวางแผนการพัฒนาโครงขายระบบรางให้เป็นระบบเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการใช้บริการ"

 

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าที่ กทม.ศึกษาอยู่นั้น ก็มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลายสายที่อยู่ภายใต้การดูแลของ รฟม. และเปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง รถไฟฟ้าสายสีชมพู รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายสีส้ม

"กทม.มีเรื่องอื่นเยอะที่ต้องทำ การมอบให้ รฟม.ไปดำเนินการด้ายรถไฟฟ้าก็เป็นเรื่องที่ทำได้ดีกว่า สร้างระบบรถไฟที่เชื่อมต่อกันได้ แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นก็คงต้องหารือในระดับนโยบายระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม ก่อนจะเสนอแนวคิดไปยังนายกรัฐมนตรี ในคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)"

 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า โครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กทม. และมีแนวคิดจะมอบให้ รฟม.นำไปดำเนินการลงทุนนั้น อาทิ โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ, โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT-Light Rail Transit) สายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า - ตลิ่งชัน โดย กทม.จะเสนอ คจร. เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ รฟม.รับผิดชอบการลงทุนรวมไปถึงบริหารสัญญาโครงการดังกล่าวทั้งหมด

 

 ขณะเดียวกันโครงการรถไฟฟ้าที่ กทม.ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ พบว่าต้องจัดใช้วงเงินลงทุนมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการโมโนเรลสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ มีระยะทาง 16.3 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 2.75 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ผลการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น จะใช้การร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้ และเป็นผู้จ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ภาครัฐ ในระยะเวลา 30 ปี ซึ่ง กทม.เคยคาดการณ์จะเสนอกระทรวงมหาดไทย และขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปี 2566 พร้อมคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่เปิดให้บริการ จำนวน 97,000 คนเที่ยวต่อวัน

 

 ส่วนโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลการศึกษามีระยะทาง 19.7 กิโลเมตร ประเมินใช้วงเงินลงทุน 1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วงเงิน 36,020 ล้านบาท ค่างานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า วงเงิน 6,720 ล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา วงเงิน 91,767 ล้านบาท ค่างานเกี่ยวกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 1,186 ล้านบาท ซึ่งเดิม กทม.คาดการณ์ว่าจสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและนำเสนอต่อ ครม.อนุมัติโครงการภายในปี 2566 เช่นเดียวกัน

 

 สำหรับผลการศึกษารูปแบบการลงทุนจะจัดทำลักษณะ PPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี พร้อมทั้งคาดว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้ในปี 2572 ที่เปิดใช้บริการจะสูงถึง 82,695 คนเที่ยวต่อวัน และปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 138,744 คนเที่ยวต่อวัน และในปี 2578 กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะทำให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 165,363 คนเที่ยวต่อวัน

 

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษา คือ โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า - ตลิ่งชัน โดยก่อนหน้านี้ กทม.ทำการศึกษาความคุ้มค่าทางการลงทุน พบว่าโครงการจะมีประชาชนมาใช้บริการประมาณ 35,000 คนเที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่สูงนัก จึงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาดำเนินการ

 

อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้าสายนี้จะสร้างความสะดวกแก่ประชาชน เพราะแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสีลม ตากสิน-เพชรเกษม ที่สถานีบางหว้า จากนั้นไปตามแนวเกาะกลางถนนราชพฤกษ์ มาสิ้นสุดบริเวณทางลาดลงของสะพานข้ามรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีตลิ่งชัน