รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า สกพอ. อยู่ระหว่างการผลักดันให้รัฐบาลจัดตั้ง เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ “ศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ” ในพื้นที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ห่างจากพัทยาช่วงจอมเทียนประมาณ 10 กิโลเมตร และสนามบินอู่ตะเภาประมาณ 15 กิโลเมตร โดยจะประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ พื้นที่ประมาณ 5,795 ไร่ เพื่อพัฒนาโครงการระยะที่ 1 มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 534,985 ล้านบาท
เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ “ศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ” ที่จะตั้งขึ้น เพื่อกิจการพิเศษรองรับการทำธุรกิจที่สนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการแพทย์และสุขภาพครบวงจร อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษดิจิทัล อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ตามแผนการพัฒนา สกพอ. ตั้งเป้าหมายให้ศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ที่จะตั้งขึ้นเป็นเป็นศูนย์สำนักงานใหญ่ภูมิภาคและศูนย์ราชการสำคัญ ศูนย์บริการทางการเงินศูนย์การแพทย์แม่นยำและการแพทย์เพื่ออนาคต ศูนย์การศึกษา วิจัย พัฒนาระดับนานาชาติ ศูนย์ธุรกิจเฉพาะด้าน และบริการอื่นๆ เพื่อรองรับการทำธุรกิจที่สนับสนุนการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวเนื่อง
สกพอ. วิเคราะห์ว่าโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ตลอดจนรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการประกอบการที่มีศักยภาพสูง สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รองรับกิจการพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยของคนทุกกลุ่ม และเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 เมืองของโลกในปี 2580
สำหรับแผนการพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ระยะที่ 1 พื้นที่ประมาณ 5,795 ไร่ คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2575 จะรองรับประชากรประมาณ 100,000 คน (จากการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด 14,619 ไร่ ในปี พ.ศ. 2580 เพื่อรองรับประชากรประมาณ 350,000 คน รวมประชากรในพื้นที่เดิมและคนเดินทางเข้าออกพื้นที่)
การพัฒนาศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ระยะที่ 1 จะดำเนินการพร้อมกับการพัฒนาธุรกิจและกิจการเป้าหมายรูปแบบต่างๆ ทำให้มีแรงดึงดูดให้ประชากรและแรงงานเข้ามาในพื้นที่โครงการ และมีแนวโน้มในการย้ายถิ่นฐานสู่เมืองใหม่ เนื่องจากมีปัจจัยบวกในการดึงดูดแรงงาน สามารถสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภายในพื้นที่โครงการและบริเวณโดยรอบ โดยพื้นที่โครงการสามารถตอบสนองความต้องการในการหาที่อยู่อาศัยที่สามารถยกระดับชีวิตและความต้องการหาแหล่งงานใหม่ๆ รวมถึงการมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น