ส่องโมเดล "แก้หนี้นอกระบบ" ล็อกเป้าเจ้าหนี้ อยู่ในบัญชีผู้มีอิทธิพล

28 พ.ย. 2566 | 08:33 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2566 | 08:57 น.

เปิดโมเดลแก้หนี้นอกระบบ มท.1 ระบุ "เจ้าหนี้นอกระบบ" อยู่ในบัญชี Watch List เหมือนผู้มีอิทธิพล ดีเดย์ 1 ธ.ค. 66  เปิดให้ลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรม "สตช." รับไม้ต่อ สั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร 1-9 เอกซเรย์พื้นที่ ส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบ

ในการแถลงข่าวเรื่อง วาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ”  ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานนำการแถลงเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 66  ที่ทำเนียบรัฐบาล

มีการดึงความร่วมมือของ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้ามาเป็นเจ้าภาพหลักร่วมมือในภารกิจครั้งนี้ 

และยังมีอีกหลายหน่วยงาน ทั้ง สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน

ส่องโมเดล \"แก้หนี้นอกระบบ\" ล็อกเป้าเจ้าหนี้ อยู่ในบัญชีผู้มีอิทธิพล

ด้วยการประกาศวาระแห่งชาติ ขับเคลื่อน “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

นายกรัฐมนตรี แถลงตอนหนึ่งว่า ปัญหาหนี้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังใหญ่ เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง ในวันนี้ รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามาทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้สินนอกระบบอีก 

โดยภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด  ดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนถึงการปิดหนี้ การทำสัญญา  ที่หลายครั้งไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม  และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง  ต้องจัดให้ทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย นั่นคือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ 

ส่องโมเดล \"แก้หนี้นอกระบบ\" ล็อกเป้าเจ้าหนี้ อยู่ในบัญชีผู้มีอิทธิพล

"ภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อทำให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหายใจ มีกำลังใจพอจะดำเนินชีวิต หาเงินมาปิดหนี้ให้ได้"นายกฯ กล่าว


 
นายกฯ บอกด้วยว่า ได้สั่งการในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนให้ตำรวจและมหาดไทยไปทำการบ้านมา โดยทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ให้ดีกว่าในอดีตที่เคยแยกกันทำ พูดให้ชัดคือ การแก้หนี้นอกระบบ จะต้องทำด้วยกันแบบ End-to-end  และต้องมีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าไปอยู่ในวงจรอีก 

และทั้งสองหน่วยงานจะต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของกันและกัน ต้องทำให้กระบวนการทำงานไม่ “ซ้ำซ้อน” มีขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบ “ร่วมกัน” ที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ  โดยจะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ  มีการให้เลขตรวจสอบ (Tracking ID) ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ติดตามผลได้  มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน 

ส่องโมเดล \"แก้หนี้นอกระบบ\" ล็อกเป้าเจ้าหนี้ อยู่ในบัญชีผู้มีอิทธิพล

และต้องมีการสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งจะต้องมีกระบวนการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน (Check & Balance) เพราะบางกรณีที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ขอให้ทุกส่วนทำงานอย่างตรงไปตรงมา เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยให้ถูกต้อง  เพื่อแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน โดยนายกรัฐมนตรีฝากให้ทั้งสองหน่วยงานทำงานอย่างมีเป้าหมาย มี เป้าประสงค์ (KPI) ร่วมกัน และกรอบเวลา (Timeline) ที่ชัดเจน  และนายกรัฐมนตรีจะติดตามดูผลอย่างใกล้ชิด
 
หลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ย นายเศรษฐา กล่าวว่า  รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้  โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน  ทั้งการช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่าง ๆ  เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดบังการใช้ชีวิตจนทำให้พี่น้องท้อถอย โดยรัฐบาลจะระมัดระวังไม่สร้างภาวะ “อันตรายทางศีลธรรม” หรือ Moral Hazard ในมาตรการการช่วยเหลือทั้งหมด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยโมเดลการทำงานของกระทรวงมหาดไทยว่า จะใช้เครือข่ายและกลไกการทำงานที่ครอบคลุมพื้นที่ ทั่วทั้งประเทศ และใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด 

ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนม และได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็ง ที่เราจะใช้ในการขับเคลื่อนภารกิจนี้นะครับ

นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงมหาดไทย ได้มีการดำเนินการผ่าน “ศูนย์ดำรงธรรม” จังหวัด และระดับอำเภอ โดยนายอำเภอจะมีบทบาทในฐานะประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย ร่วมกับพี่น้องประชาชน ในนามคณะผู้ไกล่เกลี่ย 

ซึ่งนายอำเภอก็ได้ใช้อำนาจหน้าที่ ดำเนินการให้คู่พิพาททำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ตามเงื่อนไขของหลักกฎหมาย

สำหรับมาตรการล่าสุดของรัฐบาลนั้น จะเป็นการต่อยอดให้เราสามารถช่วยเหลือประชาชนในเชิงรุกได้มากขึ้น ผ่าน “ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” 

ส่องโมเดล \"แก้หนี้นอกระบบ\" ล็อกเป้าเจ้าหนี้ อยู่ในบัญชีผู้มีอิทธิพล

"ให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ถูกข่มขู่คุกคามหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม มาลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ ตั้งแต่ วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นไป ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ในศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ในที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง และในส่วนของกรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง เพื่อที่กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่พี่น้องประชาชน   เป็นรายๆไป เพราะแต่ละเคสก็มีความเฉพาะตัวที่ต่างกัน"นายอนุทิน กล่าว

ในส่วนของมาตรการการบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งมีพฤติกรรมข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น ทางฝ่ายปกครองจะประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

"จะมีความสอดคล้องกับงานปราบปรามผู้มีอิทธิพล ที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่  เพราะหนึ่งในกลุ่มผู้มีอิทธิพลก็คือกลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบด้วย ถือว่า Watch List ที่เรามีอยู่ ก็จะถูกนำมาใช้ประโยชน์  ในการจับตาพฤติกรรมกัน" นายอนุทิน กล่าว

 

พลตำรวจเอก ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

พลตำรวจเอก ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาหนี้นอกระบบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบในมิติด้านการบังคับใช้กฎหมายพร้อมที่จะขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ด้านการสืบสวน จับกุม และดำเนินคดี กับผู้กระทำความคิดผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ในทุกรูปแบบ

จากสภาพปัญหาหนี้นอกระบบที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน ที่ถูกโกงหนี้โดยใช้ความรุนแรง จึงได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้มีประสิทธิภาพ โดยมี สายด่วน 1599 เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุ

"ได้กำหนดแผนปฏิบัติ ตั้งแต่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ เพื่อค้นหาเป้าหมาย  สั่งการให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร 1-9 ทำการเอกซเรย์พื้นที่ และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด นำมาจัดกลุ่มผู้ประกอบการ ในระดับ SML เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้" พลตำรวจเอก ธนา กล่าว

 

นอกจากนั้นยังบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยในห้วงที่ผ่านมามีผลการจับกุมผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน จำนวน 134 ราย หยุดรถยนต์ของกลาง 22 คัน รถจักรยานยนต์ 19 คัน รวมมูลค่าของกลาง 8 ล้านบาทเศษ

มีการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบรายใหญ่ เช่น จับกุมเครือข่ายรับจำนำรถยนต์พื้นที่จังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 จับกุมเครือข่าย รับจำนำรถยนต์พื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จับกลุ่มแก๊งปล่อยเงินกู้ ทวงหนี้โหด พื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมที่จะทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยหนี้ การลงข้อมูลในระบบข้อมูลกลาง เพื่อให้การติดตามผลเป็นไปอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับเป้าหมาย KPI ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายรัฐบาลต่อไป