เอกชนหนุน 3 บิ๊กโปรเจกต์ใต้ เชื่อมภูมิภาค-โลก

29 พ.ย. 2566 | 02:35 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2566 | 02:51 น.

ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เสนอรัฐบาลเดินหน้า 3 โครงการ สะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย สะพานสุไหงโก-ลก แห่งที่ 2 เพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน-ท่องเที่ยวไทย-มาเลเซีย พร้อมดันสะพานเศรษฐกิจระนอง-ชุมพร เชื่อมโลก

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้  หอการค้าไทย เปิดเผยในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 17–19 พฤศจิกายน 2566 ว่า  ภาคใต้เน้นขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ 3 ด้าน คือ ด้านการค้าการลงทุน ท่องเที่ยว บริการ เกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นฐานไม่เฉพาะในภาคใต้ แต่เป็นฐานของทั่วประเทศ  โดยมี 3 กลุ่มจังหวัดคือ 

กลุ่มจังหวัดอันดามันเน้นด้านการท่องเที่ยวระดับโลก  กลุ่มอ่าวไทยเป็นการท่องเที่ยวการเชื่อมโยงขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เชื่อมชายแดนใต้  และกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้มีศูนย์อาหารฮาลาลและพหุวัฒนธรรม ทั้งหมดจะเชื่อมด้วยการท่องเที่ยว 

สำหรับโครงการที่ทางภาคใต้เสนอในปีนี้ มี 3 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย (สะพานสตูล-เปอร์ลิส) มีความยาว 14 กิโลเมตร งบลงทุนประมาณ 14,000 ล้านบาท  ลงทุนแบบ PPPs (Public-Private Partnerships) การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โครงการนี้จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยว-การค้าชายแดน ตั้งแต่จังหวัดสตูลถึงหาดใหญ่  สามารถเชื่อมมาถึงฝั่งอันดามัน ทั้งกระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง ระนอง จะใช้ช่องทางนี้ค้าขายชายแดน 

การค้าชายแดนที่ด่านฯวังประจันกับด่านฯสตูล มีมูลค่าหลักล้าน หลักสิบล้าน ซึ่งการค้าชายแดนภาคใต้ก่อนปี 2562 มีมูลค่าถึง 500,000 กว่าล้านบาท หรือ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ของชายแดนทั้งประเทศ แต่ปีนี้ไม่ดีมีมูลค่า 335,000 ล้านบาทลดลงมาก หากโครงการสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย แล้วเสร็จ มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มเป็นหลักพันล้าน และจะมีนักท่องเที่ยว 1 ล้านคนในอีก 3 ปีข้างหน้า  

เอกชนหนุน 3 บิ๊กโปรเจกต์ใต้  เชื่อมภูมิภาค-โลก

 2.โครงการสะพานสุไหงโก-ลก 2  เป็นสะพานคู่ขนานกับสะพานสุไหงโก-ลก 1 ซึ่งฤดูท่องเที่ยวหรือช่วงที่มีการขนถ่ายสินค้าจะติดปัญหาที่ด่านฯโก-ลก 3-4 ชั่วโมง รัฐบาลจึงมีนโยบายสร้างสะพานโก-ลก 2  ใช้เงินลงทุนประมาณ 220 ล้านบาท ไทยกับมาเลเซีย ฝ่ายละ 110 ล้านบาท แต่ฝ่ายไทยจะทำถนนเข้าไปเชื่อมเพิ่มเติม มีการสร้างอาคารสำนักงาน และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอีกประมาณ 50 ล้านบาท รวม160 ล้านบาท ถ้าโครงการนี้แล้วเสร็จจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 3.28 ล้านคน  การค้าชายแดนเดิมมีมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นไปที่ 6,000-7,000 ล้านบาท

3. โครงการสะพานเศรษฐกิจระนอง-ชุมพร โครงการนี้มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้านว่าไม่คุ้ม แต่ในส่วนของภาคเอกชนภาคใต้มองว่า คำว่าคุ้มหรือไม่คุ้มคือใครทำ  ถ้ารัฐบาลทำ ใช่ว่าไม่คุ้ม เพราะรัฐบาลไม่ใช่นักธุรกิจหรือนักลงทุน นักค้าขาย   แต่วันนี้เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยเอกชน จากเดิมเป็นแบบ PPPs (Public-Private Partnerships) การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน แต่ล่าสุดรัฐบาลก็เปลี่ยนเป็นการให้สัมปทาน

นายวัฒนา  กล่าวว่า ถ้าเป็นสัมปทานเชื่อว่าคนที่จะมาประมูลสัมปทานน่าจะร่วมลงทุนของต่างประเทศ ที่เป็นสายการเดินเรือ สายขนถ่ายสินค้า ส่งน้ำมัน อุตสาหกรรมหลังท่า บวกกับนักลงทุนในประเทศอาจจะร่วมลงทุนในโครงการ 10-20  %ของมูลค่าโครงการ เชื่อว่าเอกชนมองเห็นอนาคตที่จะเป็นช่องทางเชื่อมโยงระหว่าง 2 ฝั่งทะเล ขณะที่ในพื้นที่ต้องส่งเสียงด้วย  เพราะคนที่ไม่เห็นด้วย จะมองเรื่องกองเรือ สายเรือ แต่เรามองถึงท่อส่งน้ำมัน เรามองถึงการผลิตน้ำมัน ปิโตรเคมีระหว่าง 2 ฝั่ง 

ขณะเดียวกันสินค้าของจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ที่จะส่งไปทางยุโรปคลังสินค้าที่ชุมพรแล้วค่อย ๆขนมาไว้คลังสินค้าที่ระนอง  ไม่ใช่แค่เอาเรือมาเทียบท่าขนขึ้นรางแล้วข้ามไปอีกฝั่งก่อนจะขนขึ้นเรือ  ถ้าเป็นแบบเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะค่าขนส่งแพงกว่า 4 เท่า    และจะเป็นช่องทางๆเลือกของการขนส่งโลกในอนาคต เพราะช่องแคบมะละกาจะแออัดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือกรณีช่องแคบมะละกาถ้าเกิดมีการเมืองเข้ามาแทรกซ้อน หรือเกิดอุบัติเหตุอะไรซักอย่าง จะทำให้การเดินเรือสะดุด เรือเดินไม่ได้ระยะหนึ่ง จะเป็นความเดือดร้อนของโลกทันที จึงเป็นเหตุผลให้ภาคเอกชนผลักดันโครงการนี้ทั้งที่มีคนคัดค้านว่าไม่คุ้ม 

สะพานเศรษฐกิจระนอง-ชุมพร ลงทุนประมาณ 1.1 ล้านล้าน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ทั้ง 3 ระยะใช้เวลา 2-3 ปี เชื่อว่าถ้าระยะที่ 1 ไม่ประสบความสำเร็จ ระยะที่ 2 อาจจะชะลอไป เป็นการสร้างความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุนด้วย และคนที่จะมาใช้บริการช่องทางนี้  เชื่อว่าทั้ง 3 โครงการไม่ได้มีผลดีเฉพาะภาคใต้ แต่ส่งผลทั้งประเทศ และภูมิภาค เพราะเชื่อมมาเลเซีย 2 ด้าน เชื่อมภูมิภาค และ เชื่อมโลกด้วยสะพานเศรษฐกิจระนอง-ชุมพร

“วันนี้คือว่า รัฐบาลเศรษฐา คิดว่าจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการค้าการลงทุน เพราะว่าวันนี้ไตรมาส3 จีดีพีเราโต เหลือ 1.5 % ทั้ง 3 ไตรมาส เหลือ 1.9 % จำเป็นต้องกระตุ้น แต่ทั้ง 3 โครงการที่นำเสนอรัฐบาลไปคิดว่ารัฐบาลขานรับ” นายวัฒนา กล่าว