ฐานเศรษฐกิจ ได้รับการร้องเรียนว่า พบข้อมูลแอปพลิเคชั่น "สินเชื่อเงินด่วนออนไลน์" เป็นหนี้นอกระบบแบบใหม่ ที่สามารถกู้ง่ายๆเพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียวสมัคร เกลื่อนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Facebook และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
ตรวจสอบจาก Google Paly ด้วยการพิมพ์คำว่า "สินเชื่อ" พบแอปพลิเคชั่นสินเชื่อชื่อแปลกๆจำนวนมาก ปะปนอยู่กับแอปพลิเคชั่นของธนาคารและสถาบันการเงินชื่อดังที่รู้จักกันดี และเมื่อนำรายชื่อของแอปพลิเคชั่นและบริษัทผู้ผลิตแอปฯเหล่านั้นไปค้นหาในระบบของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็พบว่าไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด
และเมื่อนำคำว่า สินเชื่อ ไปค้นใน Facebook ก็พบว่า แอปพลิเคชั่นรายชื่อแปลกที่พบในระบบแอนดรอยด์ ก็เปิดเป็นแฟนเพจ ปะปนอยู่กับสินเชื่อที่ถูกกฎหมายเช่นกัน รวมทั้งมีคลิป Reel แนะนำสินเชื่อที่พ่วงกับลิ้งค์การสมัครนำไปสู่การดาวน์โหลดได้อย่างง่ายดาย
จากการตรวจสอบความคิดเห็นของแอปพลิเคชั่น สินเชื่อเงินด่วนชื่อแปลกเหล่านั้น พบข้อความที่ตรงกันคือ มักจะล่อใจด้วยการใช้ข้อความ/คลิป โฆษณาที่สามารถกู้เงินหลักหมื่นได้ง่ายๆ
แต่ความจริงแล้วจากประสบการณ์ผู้ที่เคยกู้หลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า จะได้รับการอนุมัติเงินเพียง 3,000- 3,500 บาท และซ้ำร้ายกว่านั้นคือ ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีจริงเพียง 1,800 บาท ส่วน อีก 1,200 บาท ถูกหักเป็นค่าบริหารจัดการ
ส่วนการทวงหนี้นั้นกำหนดคืนภายในระยะเวลา 7 วัน โดยฝ่ายทวงหนี้จะโทรไปกดดันด้วยถ้อยคำที่รุนแรง
ขณะเดียวกันมีจุดน่าสนใจคือ แอปเหล่านี้ จะขอเข้าถึงข้อมูลรายชื่อในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งข้อมูลจากผู้ที่เคยกู้ระบุว่า ฝ่ายทวงหนี้ของแอปจะโทรไปตามรายชื่อที่เข้าถึงทุกคนเพื่อทำการทวงและประจานว่าเราเป็นหนี้
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (สกมช.) เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันการหลอกให้ลงทุนหรือการหลอกให้คลิกลิงค์ เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว หรือการคลิก "ลิงก์เงินกู้" และแอปพลิเคชั่นกู้เงินไม่ถูกกฎหมาย จาก มิจฉาชีพ แพร่ระบาดในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหน้าที่หลักของ สกมช. คือการควบคุมและป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของ มิจฉาชีพ ที่แอบแฝงตัวมาในรูปแบบต่าง ๆ
โดยกรณีนี้ สกมช.ต้องร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจต้องร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ในการติดตามผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
พลอากาศตรี อมร กล่าวต่อว่า ส่วนการรับมือจาก ภัยไซเบอร์ ที่เป็น "ลิงก์เงินกู้" หรือ แอปพลิเคชั่น เพื่อให้คลิก สำหรับการกู้ยืมเงินหรือการคลิกเพื่อเข้าถึงการดาวน์โหลดแอปฯ บางประเภทโดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว รวมไปถึง "ลิงก์เงินกู้" ที่หากเผลอกดเข้าไปแล้วมิจฉาชีพจะสามารถเข้าไปในบัญชีรายชื่อในของโทรศัพท์
จากนั้นมิจฉาชีพจะทำการเก็บข้อมูล หากผู้กู้ยืมเงินผิดการชำระจะมีการไล่โทรไปตามคอนแทคลิสต์และแจ้งยังปลายสายว่าเป็นผู้ค้ำประกันเพื่อหวังจะได้เงินคืน จึงเป็นที่มาให้หลายครั้งโดนหลอกเอาเงินไปเพราะเกรงว่าจะเสียเครดิต หรือถูกข่มขู่ทั้งๆที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกู้เงิน
อย่างไรก็ตาม "ลิงก์เงินกู้" เหล่านี้ถือ เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามที่จำเป็นจะต้องย้ำเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวัง ดังนั้น สกมช. จำเป็นจะต้องเน้นการเข้าไปให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เพื่อเป็นการสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกหลอกจาก มิจฉาชีพ
แม้ว่าวิธีการดังกล่าวอาจจะไม่ได้เห็นผลโดยทันที แต่มั่นใจว่าหากประชาชนมีความรู้มากพอจะไม่ตกเป็นเหยื่อต่อไป ตัวอย่างเช่นในประเทศสิงคโปร์ที่รัฐบาลมีการเข้มงวดและให้ความรู้ประชาชนอย่างจริงจัง รวมไไปถึงการให้หน่วยงานรัฐยกเลิกส่งข้อความใด ๆ ผ่านทาง SMS เพื่อปิดช่องว่างที่มิจฉาชีพใช้หลอกประชาชน
ดังนั้นจำเป็นที่ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้คนมีสติมากยิ่งขึ้น สิ่งแรกที่ต้องถามเมื่อได้รับลิ้งค์คือลบทิ้งทันที หรือหากมีคอลเซ็นเตอร์โทรมาจะต้องไม่รับสายหรือหากเผลอรับสายก็ให้กดตัดสายทันที เพราะจากข้อมูลพบว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและโดนหลอกมากที่สุดคือคนที่คิดว่าจะไม่ถูกหลอกและเผลอคุยกับคอลเซ็นเตอร์เป็นเวลานานนาน