ภายในงานประชุมสื่อสารนโยบายของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งมี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย ผู้บริหาร และบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมการประชุม การประชุม
นายสันติ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายมุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีเป้าหมายหลัก 13 ประเด็น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มี 6 ประเด็น ได้แก่ โครงการพระราชดำริ สุขภาพจิต/ ยาเสพติด ปฐมภูมิ สถานชีวาภิบาล ดิจิทัลสุขภาพ และเศรษฐกิจสุขภาพ
สำหรับประเทศไทยมีความโดดเด่นของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรที่สามารถขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพได้อย่างโดดเด่น จากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา ประชาชนหันมาสนใจด้านสุขภาพ อาหารไทย สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น
กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้เดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจสุขภาพ โดยส่งเสริมนวดไทยเพื่อการสร้างงานสร้างอาชีพ อาหารไทยเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการดูแลสุขภาพใน Wellness Communities ตามที่รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายสนับสนุน Soft power ของประเทศและนวดไทย ถือเป็นอัตลักษณ์ของไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก
โดย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นจึงได้มีการผลิตบุคลากรให้บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพและผ่านการรับรองกว่า 30,000 คน ที่ให้บริการนวดไทยทั้งในภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวด้านอาหารที่ทำรายได้ให้กับประเทศถึงร้อยละ 20 ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.74 อาหารไทยจึงเป็นอีกหนึ่ง Soft power ที่รัฐบาลส่งเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สู่เป้าหมาย "คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง (Health for Wealth)"
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ปี 2567 นี้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ มีเข็มมุ่งให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นบริการเป็นเลิศ และภูมิปัญญาสร้างคุณค่า สนับสนุนการนำงานวิจัยต่อยอดสู่นวัตกรรมเพื่อปรับใช้ในการให้บริการ ลดความเหลื่อมล้ำ ต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมสู่การสร้างมูลค่า สร้างรายได้ หนุนเสริมเศรษฐกิจ ภายใต้ฐานข้อมูลที่มีคุณภาพ เพื่อการให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียม
ในปี 2566 สปสช. ได้สนับสนุนค่าบริการเพิ่มเติม (On top) คือ 19.16 ต่อหัวประชากร ซึ่งในปี 2567 อยู่ระหว่างเสนอร่างขอให้ สปสช.เพิ่มเงินสนับสนุนค่าบริการเพิ่มเติม (On top) เป็น 30.33 ต่อหัวประชากร
ในส่วนการขับเคลือนนโยบายสมุนไพรไทยได้เดินหน้าขับเคลื่อน "สมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ" ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่ามีการวางเป้าหมายออกสู่ตลาดโลก เพื่อสร้างเศรษฐกิจรายได้ของประชาชน และ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติต่อไป