กทพ.เปิด 11 ทางด่วนสายใหม่ มูลค่า 4 แสนล้าน ทยอยเปิดปี 68

01 ธ.ค. 2566 | 03:10 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2566 | 03:27 น.

กพท.เปิดแผนพัฒนา 11 ทางด่วยสายใหม่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาคมูลค่าโครงการ 4 แสนล้านบาท ทยอยเปิดให้บริการปี 2568

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่าปัจจุบัน กทพ.มีแผนขยายโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) ครอบคลุมไปยังพื้นที่ในภูมิภาคในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดสุราษฎ์ธานี นครศรีธรรมราช ตราด เชียงใหม่ และขอนแก่น นอกจากนี้ ยังได้ตั้งเป้าหมายภายใน 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2575 จะเดินหน้าโครงการที่สำคัญ จำนวน 11 โครงการ ระยะทาง 200 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 400,000 ล้านบาท ที่จะทยอยเปิดให้บริการในปี 2568 เป็นต้นไป

กทพ.เปิด 11 ทางด่วนสายใหม่ มูลค่า 4 แสนล้าน ทยอยเปิดปี 68

11 โครงการ "ทางด่วน"สายใหม่ของกทพ. ประกอบไปด้วย

  • โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก  ระยะทาง 18.7 กิโลเมตรวงเงิน 30,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในเดือน พ.ค. 2568
  • โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ระยะทาง 19.25 กิโลเมตร วงเงิน 24,000 ล้านบาท สถานะโครงการ 14 มี.ค. 2566 ครม. อนุมัติให้ดำเนินโครงการ ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา ส่วนเชื่อมต่อไปวงแหวนรอบที่ 3 อยู่ระหว่างขออนุมัติรายงานเปลี่ยนแปลง EIA

กทพ.เปิด 11 ทางด่วนสายใหม่ มูลค่า 4 แสนล้าน ทยอยเปิดปี 68

  • โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ ถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก วงเงิน 17,000 ล้านบาท และตอน N1 ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ วงเงิน 50,000 ล้านบาท สถานะโครงการ อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการ
  • โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร วงเงิน 15,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และทบทวนแนวทางดำเนินโครงการเพื่อขอเสนอ ครม.

กทพ.เปิด 11 ทางด่วนสายใหม่ มูลค่า 4 แสนล้าน ทยอยเปิดปี 68

  • โครงการส่วนต่อขยาย ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จ.ภูเก็ต ระยะทาง 30.62 กิโลเมตร วงเงิน 47,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน โดยให้เอกชนบริหารจัดการและบำรุงรักษาโรงข่ายทางพิเศษจังหวัดภูเก็ตทั้ง 2 ระยะ
  • ครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double deck) วงเงิน 35,000 ล้านบาท
  • โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯรอบที่ 3 ด้านทิศใต้ สมุทรสาคร-สมุทรปราการ ระยะทาง 71.60 กิโลเมตร วงเงิน 1.09 แสนล้านบาท สถานะโครงการ อยู่ระหว่างจัดทำร่าง TOR เพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการ
  • โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย ระยะทาง 25 กิโลเมตร วงเงิน 50,000 ล้านบาท สถานะโครงการ อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม
  • โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด ระยะทาง 6 กิโลเมตร วงเงิน 10,000 ล้านบาท สถานะโครงการ อยู่ระหว่างจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการ
  • โครงการทางพิเศษ สายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร วงเงิน 20,000 ล้านบาท สถานะโครงการ อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม
  • โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กิโลเมตรวงเงิน 4,400 ล้านบาท สถานะโครงการ อยู่ระหว่างเจรจารูปแบบการลงทุนร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย

กทพ.เปิด 11 ทางด่วนสายใหม่ มูลค่า 4 แสนล้าน ทยอยเปิดปี 68

โดยในปี 2567 กทพ.มีแผนนำร่องเปิดประมูลโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย

 1.โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (MR 10) วงเงิน 24,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมประกาศขายเอกสารการประกวดราคาภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลประมาณกลางปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการภายในปี 2570

กทพ.เปิด 11 ทางด่วนสายใหม่ มูลค่า 4 แสนล้าน ทยอยเปิดปี 68

2.โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 15,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.แล้ว หลังจากนี้จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบในการปรับรูปแบบการร่วมลงทุนใหม่โดยโครงการนี้ กทพ.จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเองแทนการเปิดประมูลในรูปแบบระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 2571

3.โครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double deck) วงเงิน 35,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ซึ่งเป็นเอกชนผู้ที่ได้รับสัมปทานมาร่วมทุนกับ กทพ.เพื่อแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรี ระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ซึ่งประเมินจากการคาดการณ์รายได้ภายใน 1 ปี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จโดยหักกับวงเงินลงทุนของโครงการ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ชุดใหม่ และ ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป

4.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ ถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก วงเงิน 17,000 ล้านบาท ปัจจุบัน กทพ.ได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างรอความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากนี้จะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. และ ครม.เห็นชอบอนุมัติประมูลโครงการตอน N2 ภายในกลางปี 2567

ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างเร่งผลักดันโครงการตอน N2 แต่หากการเสนอโครงการรอบนี้ไม่สำเร็จ เราอาจยกเลิกประมูลโครงการทั้ง 2 ตอน เพื่อคืนพื้นที่ให้ประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา กทพ.ได้ขอเวนคืนที่ดินของประชาชนมาอย่างยาวนาน หรือกว่า 25 ปีแล้ว ดังนั้นจึงไม่อยากปล่อยให้พื้นที่ทิ้งร้างไปอย่างเปล่าประโยชน์