"กทพ." จ่อทะลวงใต้ดิน 3.6 หมื่นล้าน สร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N1

04 ก.ย. 2566 | 08:44 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2566 | 08:55 น.

“กทพ.” เดินหน้าเปิดรับฟังความเห็นศึกษา สร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N1 วงเงิน 36,000 ล้านบาท เตรียมเจาะอุโมงค์ใต้ดินยุติปัญหากระทบม.เกษตรฯ เตรียมชงครม.ไฟเขียวเปิดประมูลปี 69 คาดตอกเสาเข็มปี 70

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการคัดเลือกแนวสายทาง) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ว่า ที่ผ่านมาโครงการฯ ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณแยกเกษตร ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ และโครงข่ายโดยรอบด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครให้สามารถรองรับปริมาณจราจรได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ 

\"กทพ.\" จ่อทะลวงใต้ดิน 3.6 หมื่นล้าน  สร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N1

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกทพ.ได้วางแผนการดำเนินงานทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือออกเป็น 2 ระยะ คือ 1.ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ ถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 16,960 ล้านบาท มีความพร้อมเริ่มก่อสร้างก่อน อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่ 
 

ขณะที่ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 อยู่ในระหว่างศึกษา ความเหมาะสม ซึ่งก่อนหน้านี้ กทพ.ได้หารือร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในส่วนที่ได้รับผลกระทบเพื่อพิจารณาและแนวทางเลือกเส้นทางและรูปแบบก่อสร้างที่เหมาะสม และมีผลกระทบน้อยที่สุด

\"กทพ.\" จ่อทะลวงใต้ดิน 3.6 หมื่นล้าน  สร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N1

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้แล้วเสร็จ จะศึกษาอย่างละเอียดในขั้นตอนต่อไปเพื่อให้เกิดความชัดเจนในด้านค่าก่อสร้าง ค่าเวนคืน ผลตอบแทนในการลงทุน ทางการเงินอาจไม่ดีมาก แต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกว่า 17% เบื้องต้น กทพ.จะลงทุนเอง โดยใช้รายได้มาดำเนินการ ซึ่งฐานะการเงินของกทพ.มีความแข็งแกร่ง จะดูกระแสเงินสด หากไม่พอ จะระดมทุนเข้ามาช่วย เช่น การออกบอนด์ เป็นต้น
 

ทั้งนี้กทพ.ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย ประกอบด้วย บริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ทำการศึกษาคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสมของโครงการฯ โดยพิจารณาเปรียบเทียบความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมและจราจร เศรษฐกิจและการลงทุน  และผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

\"กทพ.\" จ่อทะลวงใต้ดิน 3.6 หมื่นล้าน  สร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N1

สำหรับการศึกษาโครงการฯมีระยะเวลา 17 เดือน เริ่มเมื่อเดือนเม.ย. 65- ก.ย. 66 แต่มีการขยายเวลา ช่วงเจรจาหารือกับผู้ได้รับผลกระทบ โดยจะสรุปการศึกษาและรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดือนพ.ค. 67 หลังจากนั้น จะเสนอต่อครม.และขออนุมัติ รายงาน EIA คาดใช้เวลากว่า 1-2 ปี เตรียมเปิดประมูลภายในปี 69 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 70 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี พร้อมเปิดให้บริการปี 75 โดยคาดการณ์ปริมาณจราจรปีเปิดบริการที่ 7 หมื่นคัน/วัน ส่วนสายทางมีความจุประมาณ 1.4 แสนคัน/วัน

 

 ขณะเดียวกันจากการศึกษาพบว่าแนวสายทางที่ 2.2  ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร (กม.) โดยมีคะแนนรวม 82.5 คะแนน ค่าลงทุนประมาณ 36,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นแนวสายทางที่เหมาะสมที่สุด มีลักษณะเป็นอุโมงค์ใต้ดินทั้งหมด โดยแนวเส้นทางโครงการฯ ช่วงทดแทนN1 มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัชตัดกับถนนงามวงศ์วาน แนวสายทางจะไปตามแนวถนนงามวงศ์วานผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร เข้าถนนประเสริฐมนูกิจจนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และเชื่อมต่อ E-W Corridor ซึ่งจะได้นำไปศึกษาอย่างละเอียดในขั้นตอนต่อไป


อย่างไรก็ตามโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 มีความมุ่งหมายที่สำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการจราจราจรบริเวณแยกเกษตร ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ และพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตของเมืองในอนาคตได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพต่อไป