ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤศจิกายน 2566 เปรียบเทียบเดือนตุลาคม 2566 และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนพฤศจิกายน (45.80) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบกับตุลาคม (45.50) และเดือนกันยายน (45.10) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การลดลงของหนี้สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่าปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ มาตรการช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินและดีเซล มาตรการพักหนี้เกษตรกร การควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ โดยเฉพาะการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าและค่าใช้จ่ายได้
นอกจากนี้ธุรกิจที่ให้บริการทางด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อาทิ ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจอาหาร ธุรกิจให้บริการขนส่ง ฯลฯ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ มากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมาก
อย่างไรก็ตาม นโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรง ย่อมส่งผลให้ต้นทุนของธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นตาม โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กต่าง ๆ เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ยังจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก
หากธุรกิจเหล่านี้มีต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น ย่อมส่งผลทำให้ต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้น อันจะทำให้ค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้นด้วย ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายปรับค่าแรงแบบทยอยปรับขึ้นก็ตาม แต่ราคาสินค้าและบริการก็จะปรับขึ้นตามค่าแรงที่มีการปรับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความกังวล ความคาดหวัง และความต้องการของประชาชน มีดังนี้
1. ประชาชนที่เป็นพนักงานเอกชนมองว่า การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเริ่มทยอยปรับขึ้นตามไปด้วย และหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก ย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นอีก โดยการปรับขึ้นค่าแรงทุกครั้ง ราคาสินค้าและบริการก็จะปรับขึ้นตามเช่นกัน
ทั้งนี้ประชาชนที่เป็นพนักงานเอกชนจำนวนมากที่จบปริญญาตรีและมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 12,000 บาท และไม่ได้ปรับรายได้เหมือนข้าราชการ แต่พนักงานเอกชนกลุ่มนี้ต้องรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการของภาครัฐ
จึงเสนอแนะให้ภาครัฐควรคำนึงถึงกลุ่มพนักงานเอกชน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่จบปริญญาตรีแต่มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 12,000 บาท แต่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายภาครัฐ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมีมาตรการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน
2.ถึงแม้ว่าประชาชนจะมีการออกมาจับจ่ายใช้สอย และเดินชมเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น แต่จำนวนเงินที่ซื้อสินค้าของประชาชนน้อยลง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีภาระหนี้สิน และมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้ประชาชนเหล่านี้จำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด
ดังนั้น ถึงแม้ว่าในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ จะมีจำนวนคนมากขึ้น แต่การใช้จ่ายของประชาชนกลับน้อยลง ซึ่งประชาชนกลุ่มเหล่านี้ต่างเฝ้ารอเงินดิจิทัล 10,000 บาทจากภาครัฐ โดยคาดหวังว่านโยบายนี้จะเกิดขึ้นจริง “ไม่ใช่หลอกให้อยากแล้วจากไป”
3.ประชาชนส่วนหนึ่งมีความพึงพอใจต่อมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่ผ่านมา แต่ประชาชนยังมีความกังวลว่า มาตรการต่าง ๆ จะมีความต่อเนื่องและยั่งยืนได้มากน้อยเพียงใด จึงเสนอแนะให้ภาครัฐควรมีนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพและลดค่าใช้จ่ายของประชาชนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวโดยนโยบายดังกล่าวควรเป็นการช่วยเหลือประชาชนแบบถ้วนหน้า และเป็นนโยบายที่ไม่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่น
4.ภาคใต้เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม จึงมีฝนตกหนัก และเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายทั้งในพื้นที่การเกษตร และส่งผลกระทบต่อร้านค้ากลางแจ้ง หาบเร่ แผงลอย ฯลฯ จึงเสนอแนะให้ภาครัฐควรมีมาตรกรป้องกันและช่วยเหลือที่เร่งด่วน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทำงานเชิงรุกแบบบูรณาการร่วมกันในการช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 37.10 และ 34.20 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 34.50 และ 34.10 ตามลำดับ
ในขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.40, 32.40 และ 34.10 ตามลำดับ