รัฐบาลเศรษฐา เร่งดัน EEC เฟส 2 ดึงลงทุน 5 แสนล้าน

05 ธ.ค. 2566 | 22:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2566 | 10:11 น.

รัฐบาลเศรษฐา เร่งขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ระยะที่ 2 พร้อมชงครม. เดือนธันวาคม 2566 นี้ ไฟเขียวแผนดึงเงินลงทุนจริง 5 แสนล้านบาท ใน 5 ปี ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีก 77 โครงการ วงเงินรวม 3.37 แสนล้านบาท

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ที่เป็นเรือธงในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านมา ได้ถูกหยิบยกมาสานต่อในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง 

ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ ร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2566-2570) ที่เป็นกรอบดำเนินงานหลักของอีอีซี เพื่อให้หน่วยงายต่างๆ ร่วมบูรณาการในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในทุกมิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ถือเป็นการต่อยอดการพัฒนาอีอีซี จากระยะที่ 1 (2560 –2565) ที่มีมูลค่าอนุมัติการลงทุนไปแล้วราว 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจากการหารือทางที่ประชุมได้ให้หน่วยงานต่างๆ กลับไปจัดทำร่างแผนปฏิบัติการและการดำเนินงาน รวมถึงขอรับการจัดสรรงบประมาณให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในเดือนมกราคม 2567

 

ภาพประกอบข่าว โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC)

 

ดึงลงทุนจริง 5 แสนล้าน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดอีอีซีล่าสุด ได้เห็นชอบร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566 –2570 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ และจัดทำร่างแผนปฏิบัติการและการดำเนินงาน

รวมถึงขอรับการจัดสรรงบประมาณ โดยจะนำร่างแผนดังกล่าวสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้

แหล่งข่าวจากสกพอ.กล่าวว่า ร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2566-2570) เป็นการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่อีอีซีระยะที่ 2 ให้ได้ โดยมีเป้าหมายไว้ราว 5 แสนล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้จะช่วยสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Gross Provincial Cluster Product : GPCP EEC) ขยายตัวเฉลี่ย 6.3 % และดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index) ในพื้นที่ได้แก่ ดัชนีย่อยด้านชีวิตการงานและดัชนีย่อยด้านเศรษฐกิจ มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 %

 “ในปี 2564 GPCP EEC เท่ากับ 2.36 ล้านล้านบาท คิดเป็น 14.6 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ปี 2560 - 2562) เศรษฐกิจอีอีซีมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2.1 % จากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นหลัก”

 

ภาพประกอบข่าว โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC)

 

ขับเคลื่อนแผน 5 แนวทาง

สำหรับการผลักดันเป้าหมายดังกล่าว จะดำเนินงานภายใต้การพัฒนา 5 แนวทางประกอบด้วย 

1.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต ที่ตั้งเป้าหมายให้ได้มูลค่าความตกลงสิทธิประโยชน์ปีละ 2.5 แสนล้านบาท มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้น 3.5 % ต่อปี สัดส่วนรายได้ของธุรกิจเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อจีดีพีในอีอีซีไม่น้อยกว่าปีละ 7 % รวมถึงจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้นปีละ 3.5 %

2. เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค โดยมีเป้าหมายความสำเร็จของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา แล้วเสร็จกว่า 90 % ในปี 2570 การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F1 แล้วเสร็จในปี 2570 

ขณะที่การก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 แล้วเสร็จในปี 2569 โดยจะมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้นปีละ 5% มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไม่น้อยกว่า 5 % ในปี 2570 และมีปริมาณนํ้าต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการใช้ในปี 2570 ที่ 2,888 ล้านลูกบาศก์เมตร

3. ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีเป้าหมายผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นปีละ 2.5% อัตราการว่างงานเฉลี่ยไม่เกินปีละ 0.83% มีแรงงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนต่อปี

4. พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ มีเป้าหมายการพัฒนาเมืองใหม่และเมืองเดิมได้รับการพัฒนาตามแผน 2 เมือง มีอัตราการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ลดลงปีละ 10 % ปริมาณการล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20% ในปื2570 เมื่อเทียบกับปีฐาน และมีสัดส่วนการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ไม่น้อยกว่า 15 % ต่อปี

5.เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่น้อยกว่า 5 % ต่อปี

ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะที่แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาอีอีซี ระหว่างปี 2566 -2570 ที่ผ่านมาได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประกอบด้วย

  1. การเพิ่มขีดความสามารถของระบบรางและทางนํ้า และเชื่อมต่อกับการขนส่งสินค้ารูปแบบอื่น
  2. การยกระดับโครงข่ายคมนาคมรองรับการเดินทางของประชนชนอย่างไร้รอยต่อ และ
  3. ยกระดับโครงข่ายคมนาคมด้วยมาตรการเชิงรุกและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ทั้งนี้ กำหนดให้มีการดำเนินโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งจำนวน 77 โครงการ วงเงินรวม 337,797.07 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2566 จำนวน 29 โครงการ วงเงินรวม 125,599.98 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินปี 66 ประมาณ 25,425.65 ล้านบาทและโครงการที่เริ่มดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2567-2570 จำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 212,197.09 ล้านบาท

สำหรับโครงการตามแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2566-2570 รวม 77 โครงการ วงเงินรวม 337,797.07 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ภาครัฐลงทุน จากงบประมาณแผ่นดิน เงินกู้ และงบรัฐวิสาหกิจ จำนวน 61 โครงการ วงเงินรวม 178,578.07 ล้านบาท (52.87%)
  • ภาคเอกชนลงทุน และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชน (PPP) จำนวน 16 โครงการ วงเงินรวม 159,219 ล้านบาท ( 47.13%)

ทั้งนี้เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 295,710.49 ล้านบาท ( 87.5%) ระบบสาธารณูปโภค 38,382.58 ล้านบาท ( 11.4%) และมาตรการส่งเสริม 3,704 ล้านบาท ( 1.1%)

ส่วนกรณีที่อีอีซีมีแผนจะขยายพื้นที่จังหวัดในระยะที่ 2 ออกไปนั้น ยืนยันว่ายังไม่มีแผนดังกล่าว เพราะการขยายพื้นที่ในระยะที่ 2 จะต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมหรือออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เนื่องจากตามกฎหมายในปัจจุบันกำหนดให้อีอีซียังดำเนินการภายในพื้นที่ 3 จังหวัดตามเดิม ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

 

แผนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ช่วง 5 ปี (2566-2570)