บอร์ดไตรภาคี เตรียมเคาะ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ทุกจังหวัด พรุ่งนี้

07 ธ.ค. 2566 | 02:39 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2566 | 02:46 น.

รอเฮ! คณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี เตรียมเคาะ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” รอบใหม่ วันที่ 8 ธันวาคม 2566 “พิพัฒน์” ยืนยันฐานเศรษฐกิจพร้อมปรับขึ้นทุกจังหวัด ก่อนเสนอครม.ไฟเขียวสัปดาห์หน้า

ฐานเศรษฐกิจเกาะติดการปรับ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ของแรงงานทั่วประเทศ ล่าสุดมีรายงานว่ากำลังจะได้ข้อสรุป หลังจากกระทรวงแรงงาน ได้รับทราบรายงานข้อมูลของทางทั้งหวัดต่าง ๆ ซึ่งได้ส่งรายละเอียดของอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานใน 77 จังหวัดมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยขั้นตอนต่อจากนี้ คณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี ซึ่งมีตัวแทนจากภาครัฐ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง จะนัดประชุมกันในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 นี้ เพื่อหาข้อสรุปเรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานทั้ง 77 จังหวัด รอบใหม่ ก่อนจะมีมติออกมาอย่างเป็นทางการ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัดได้ส่งข้อมูลอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานในพื้นที่เข้ามาแล้ว และกระทรวงแรงงานก็ได้มีการพิจารณารายละเอียด พบว่าเบื้องต้นการปรับขึ้นค่าจ้างคงปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน 

“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะปรับเพิ่มขึ้นทุกจังหวัดแน่นอน แต่จะปรับขึ้นในอัตราเท่าไหร่นั้น แต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นไม่เท่ากัน” นายพิพัฒน์ ระบุ

 

ภาพประกอบการปรับ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ของแรงงานทั่วประเทศ 2567

ส่วนการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีปรับขึ้นสูงสุดที่เท่าใดนั้น นายพิพัฒน์ ยอมรับว่า ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะต้องรอให้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีก่อน แต่ยืนยันว่า แรงงานทุกจังหวัดจะได้รับการปรับขึ้นค่าแรงแน่นอน ส่วนจะได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่ไม่เท่ากัน และการปรับขึ้นค่าแรงนั้น ก็ต้องทำให้เกิดความสมดุลไม่ให้กระทบต่อภาคธุรกิจมากเกินไปด้วย

ขณะเดียวกันในขั้นตอนการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบนั้นฐานเศรษฐกิจสอบถามความชัดเจนว่าจะเสนอได้ทันในการประชุมครม.วันที่ 12 ธันวาคม 2566 นี้หรือไม่ รมว.แรงงาน ยืนยันว่า จะเสนอเข้าครม. ได้ทันสัปดาห์หน้า หากครม.ไม่มีข้อทักท้วง และเห็นชอบแล้วจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันวันที่ 1 มกราคม 2567 ต่อไป

ทั้งนี้ที่ผ่านมาในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และรายงานผลให้ครม.ทราบโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้ได้ข้อสรุปเป็นที่ยุติโดยเร็ว และให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้วนำเสนอครม.โดยด่วนภายใน 3 สัปดาห์

โดยกระทรวงแรงงาน ได้รายงานไทม์ไลน์เบื้องต้นของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ สรุประยะเวลาไว้ดังนี้

  • วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สรุปรายละเอียดอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานใน 77 จังหวัด
  • วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงแรงงาน หารือภายในถึงการพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานใน 77 จังหวัด
  • วันที่ 8 ธันวาคม 2566 นัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือคณะกรรมการไตรภาคี พิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำ รอบใหม่
  • วันที่ 12 ธันวาคม 2566 กระทรวงแรงงาน เสนอ ครม. พิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำ รอบใหม่