วันที่ 7 ธันวาคม นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการรวบรวมข้อมูลหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยได้ทำการสำรวจในเชิงลึก ทั้งจำนวนมูลหนี้ครูในระบบทั้งหมด จำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นหนี้วิกฤต ว่า มีทั้งหมดกี่ราย เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไข
โดยข้อมูลทั้งหมดจะส่งให้ ทางรัฐบาล เพื่อเข้าร่วมมาตรหารแก้ไขปัญหาหนี้สินในภาพรวมด้วย ทั้งนี้ในส่วนของศธ. จะเน้นแก้ปัญหาหนี้ในระบบส่วนหนี้นอกระบบ ครูและบุคลากรทางการศึกษา สามารถลงทะเบียนกับทางกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะประชาชน เพื่อรับความช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินในภาพรวมได้
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ปัจุบันครูมีหนี้สินในระบบกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลเชิญทางศธ. เข้าไปร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินในภาพรวม โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอให้รัฐบาล เพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึก ทั้งตัวเลข จำนวนหนี้ มูลหนี้ทั้งหมด หนี้วิกฤต ว่ามีทั้งหมดกี่ราย
จึงถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลไม่ได้ทิ้งให้ศธ. ดำเนินการเรื่องนี้ตามลำพัง โดยช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สถาบันการเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอีกช่องทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ข้าราชการครู ทั่วประเทศกว่า 9 แสนคน และในจำนวนนี้กว่า 80% มีปัญหาหนี้สินรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่สุดของครู ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 5.64%
เจ้าหนี้ที่รองๆ ลงมา คือ ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% ของยอดหนี้ อัตราดอกเบี้ย 6.9% ธนาคารกรุงไทย 6.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4% ของยอดหนี้ อัตราดอกเบี้ย 7.12% และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 6.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4% ของยอดหนี้ อัตราดอกเบี้ย 6.4%