"สุริยะ" เคลียร์ชัด ความคุ้มค่า-โอกาส "แลนด์บริดจ์" เทียบช่องแคบมะละกา

07 ธ.ค. 2566 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2566 | 10:15 น.

อ่านชัดๆ "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่การตอบกระทู้ถามจากสมาชิกวุฒิสภาของ "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" ประเด็นความคุ้มค่าและโอกาสในการลงทุนจาก "นโยบายแลนด์บริดจ์ : Landbridge" เมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกาและท่าอื่นๆ

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กระทู้ถามของ "นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภา" เมื่อ 18 กันยายน 2566 เรื่อง "โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge)"

ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ตอบกระทู้ถามประเด็นนี้ด้วยตัวเอง 

คําถามที่ 1 นาย สุรเดช ถามว่า การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) จะมีความคุ้มค่ากับ งบประมาณที่ต้องลงทุนหรือไม่

และหากดําเนินโครงการนี้ต่อไป กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดและหลักการ ในการคาดการณ์ความต้องการใช้บริการ (Demand Side) ของโครงการนี้หรือไม่ อย่างไร

นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภา

นายสุริยะ ตอบว่า กระทรวงคมนาคม โดยสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ขอเรียนว่า จากผลการศึกษา เบื้องต้น ได้คาดการณ์ปริมาณสินค้าผ่านโครงการ Landbridge ตลอดระยะเวลาโครงการ โดยมีสินค้าที่มีแนวโน้มมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์อยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ 

  • กลุ่มที่ 1 เป็นสินค้านำเข้าและออกจาก ประเทศไทย 
  • กลุ่มที่ 2 เป็นสินค้าที่ส่งไปมาระหว่างประเทศในมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก 
  • กลุ่มที่ 3 เป็นสินค้าที่นําเข้าและส่งออกจากประเทศในกลุ่ม GMS ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมถึงจีนตอนใต้ 

โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ฝั่งระนองประมาณ 19.4 ล้านตู้ และฝั่งชุมพรประมาณ 13.8 ล้านตู้ ตลอดระยะเวลาโครงการ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ใช้ ระหว่างการขนส่งผ่านโครงการ Landbridge กับการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา พบว่า โครงการ Landbridge จะช่วยลดระยะเวลาขนส่ง เฉลี่ยประมาณ 4 วัน และสามารถลดค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 15% ซึ่งจะทําให้ประเทศไทยกลายเป็น ศูนย์กลางของการรวบรวมและกระจายสินค้าในภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอาเซียน

นายสุริยะ ระบุด้วยว่า โครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่ง ที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง เชื่อมโยงด้วยเส้นทางประกอบด้วย รถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ ระยะทาง ประมาณ 90 กิโลเมตร โดยจะออกแบบเป็นอุโมงค์ในช่วงที่ผ่านภูเขา เพื่อให้เส้นทางขนส่งไม่ลาดชัน เพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้า 

ทั้งนี้ ในส่วนของประมาณการมูลค่าลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์นั้น การศึกษาได้แบ่งการพัฒนาโครงการออกเป็น 4 ระยะ ตามผลการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าที่จะมา ผ่านโครงการ มีมูลค่าลงทุนของโครงการรวมทั้งสิ้น 1 ล้านล้านบาท โดยจะมีการลงทุนในระยะแรก ประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งรูปแบบการลงทุนเบื้องต้น ภาครัฐจะทําหน้าที่เวนคืนที่ดิน โดยจะให้ภาคเอกชนทําการลงทุนในโครงการ 100 %

คําถามที่ 2 สว.สุรเดช ถามว่า  โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) มีจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบกว่า เส้นทางเดินเรือและท่าเรือบริเวณใกล้เคียงอย่างไร

นายสุริยะ ตอบคำถามนี้ว่า กระทรวงคมนาคม โดยสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้ดําเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน 

โดยโครงการแลนด์บริดจ์ได้ศึกษาความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางและสามารถทําหน้าที่เป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการนี้จะช่วยลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ทําให้ประหยัด ต้นทุนการขนส่ง หลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดบริเวณช่องแคบมะละกา และมีแนวโน้มในการจูงใจ ผู้ประกอบการขนส่ง และนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้

รมว.คมนาคม กล่าวอีกว่า ในการศึกษาได้กําหนดบทบาทของโครงการแลนด์บริดจ์ไว้ 3 บทบาท คือ

  1. บทบาทการเป็น ประตูการค้า (Gateway) รองรับการนําเข้า - ส่งออกของไทย และของประเทศในกลุ่ม GMS รวมถึง จีนตอนใต้ 
  2. บทบาทการเป็นเส้นทางลําเลียงสินค้าที่ขนส่งไปมาระหว่างกลุ่มประเทศในมหาสมุทรอินเดีย และกลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก
  3. บทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า (Port Industry) ในพื้นที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้

สําหรับความก้าวหน้าของโครงการในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 รับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) และให้กระทรวง คมนาคมดําเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนา 

โครงการแลนด์บริดจ์เพื่อนํามาประกอบในการจัดทําร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุน โดยสํานักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจรได้ดําเนินการวางกรอบแนวทางพัฒนาโครงการแล้วเสร็จ

ปัจจุบันกําลัง ดําเนินการออกแบบเบื้องต้นท่าเรือทั้งฝั่งระนอง และท่าเรือฝั่งชุมพร พร้อมกําลังดําเนินการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแผนการดําเนินการของโครงการในขั้นตอนต่อไป กระทรวงคมนาคมดําเนินการรับฟังความคิดเห็น จากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้สนใจลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 - มีนาคม 2567 

หลังจากนั้นจะนําความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากนักลงทุนมาทําการวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงรายละเอียด ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติดําเนินโครงการ โดยจะมีรายละเอียดที่มีความชัดเจนทั้งในด้านของข้อมูล รูปแบบการดําเนินโครงการ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกผู้ลงทุนโครงการ และก่อสร้างต่อไปตามแผนจะดําเนินการประกาศประกวดราคาในช่วงปลายปี 2568 และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี

นายสุริยะ กล่าวต่อไปว่า โครงการแลนด์บริดจ์นี้เป็นโครงการที่จะสร้างมูลค่ามหาศาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับ และมีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดระนองและชุมพร รวมถึงประเทศไทย ในภาพรวม กระทรวงคมนาคมจึงให้ความสําคัญในการรับฟังความเห็นทั้งด้านบวกและด้านลบจาก ทุกภาคส่วน เพื่อนํามาพิจารณาในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและกับ พี่น้องประชาชน

\"สุริยะ\" เคลียร์ชัด ความคุ้มค่า-โอกาส \"แลนด์บริดจ์\" เทียบช่องแคบมะละกา

\"สุริยะ\" เคลียร์ชัด ความคุ้มค่า-โอกาส \"แลนด์บริดจ์\" เทียบช่องแคบมะละกา

\"สุริยะ\" เคลียร์ชัด ความคุ้มค่า-โอกาส \"แลนด์บริดจ์\" เทียบช่องแคบมะละกา

\"สุริยะ\" เคลียร์ชัด ความคุ้มค่า-โอกาส \"แลนด์บริดจ์\" เทียบช่องแคบมะละกา

\"สุริยะ\" เคลียร์ชัด ความคุ้มค่า-โอกาส \"แลนด์บริดจ์\" เทียบช่องแคบมะละกา

ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา