มุมมองมาเลเซีย “แลนด์บริดจ์” อาจทำ "ท่าเรือกลัง" ยอดให้บริการวูบ 20%

25 พ.ย. 2566 | 01:20 น.

มุมมองมาเลเซีย กับผลต่อเนื่องหากรัฐบาลไทยผลักดันโครงการ “แลนด์บริดจ์” เชื่อมสองฝั่งทะเล ผลกระทบหนักตกมาอยู่ที่ "ท่าเรือกลัง" ฐานเศรษฐกิจพาไปส่องความเห็นที่หลากหลายต่อนโยบายเรือธงของไทยที่นี่

หลังจากที่ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางไปนำเสนอโครงการ Land Bridge (แลนด์บริดจ์) ต่อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ที่จะกลายเป็นเส้นทางการค้าทางเลือกผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปแบบการขนส่งเชื่อมสองท่าเรือให้โยงถึงกันอย่างไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ 

เนื่องจากโครงการ "แลนด์บริดจ์" นี้จะสร้างข้ามมาจากภาคใต้ของไทย เพื่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะเป็นการค้าทางเรือที่เลี่ยงผ่านมาเลเซียและสิงคโปร์ไป โดยที่เรือไม่ต้องแล่นลงไปตามปลายสุดของสิงคโปร์ผ่านช่องแคบมะละกา หนึ่งในท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

มุมมองและความคิดเห็นของนักวิเคราะห์และนักวิชาการ Free Malaysia Today หรือ FMT ในมาเลเซียรายงานว่า แลนด์บริดจ์ของไทยอาจทำให้ท่าเรือมาเลเซียพ่ายแพ้ทางการเงินได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า

สายการเดินเรือจะได้รับประโยชน์จากเส้นทางลัดระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตามที่นักวิเคราะห์ระบุ ท่าเรือกลังมีแนวโน้มที่จะประสบกับความพ่ายแพ้ทางการเงินที่สำคัญ แต่ท่าเรือปีนังอาจได้รับผลประโยชน์จากสะพานแลนด์บริดจ์ทางภาคใต้ของประเทศไทย 

 

ท่าเรือกลัง(Port Klang) มาเลเซีย - Free Malaysia Today (FMT)

 

Karisma Putera Rahman แห่งสถาบันวิจัย Bait Al-Amanah กล่าวว่า อาจเห็นท่าเรือกลังที่ทำหน้าที่เป็น "ผู้เฝ้าประตู" ของช่องแคบมะละกา และเป็นช่องทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก อาจมีการลดบริการจัดการสินค้าลงถึง 20% แต่ในทางกลับกัน นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย-อาเซียน กล่าวว่า ปีนังอาจได้รับประโยชน์จาก "ทางลัด" ระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทย 

อีกทั้งจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ว่า ประเทศไทยกำลังพิจารณาข้อเสนอใหม่ในการฟื้นฟูโครงการที่มีอายุหลายศตวรรษ พร้อมกล่าวปราศรัยกับนักลงทุนนอกรอบการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ว่า เส้นทางภาคพื้นดินนี้จะสามารถลดเวลาการเดินทางของเรือได้ถึง 4 วัน และลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 15%

ย้อนอดีตเชื่อมสองฝั่งทะเล

แนวคิดเรื่องการทำเส้นทางตรงระหว่างผืนน้ำทั้งสองที่ประกบกับคลองกระ ซึ่งเป็นแถบแผ่นดินที่เชื่อมต่อกับคาบสมุทรมลายู เคยถูกเสนอมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2220 แต่แทนที่จะทำเพื่อการค้าขาย กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางทหาร เพื่อให้สามารถเคลื่อนกำลังทหารได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่มีการรุกรานโดยอาณาจักรพม่า(เมียนมา) ที่อยู่ใกล้เคียง

ทั้งนี้ ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวฝรั่งเศสและชาวอังกฤษยังพิจารณาแนวคิดนี้ด้วยเหตุผลทางการค้า แต่มุ่งเน้นไปที่การขุดคลองมากกว่าการสร้างเส้นทางบก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งสิ้น

Karisma Putera Rahman คาดว่า ช่องแคบมะละกาจะเต็มความจุภายในปี 2573 สะพานแลนด์บริดจ์จะทำหน้าที่เป็นเส้นทางทางเลือกในอุดมคติสำหรับการจราจรทางทะเล อย่างไรก็ตาม มันจะเป็นการเปลี่ยนเส้นทางสินค้าส่วนใหญ่ออกจากท่าเรือกลัง (Klang Port) ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียสายการเดินเรือในท้องถิ่น และเป็นอันตรายต่อสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วของท่าเรือนี้

ทั้งยังคาดการณ์ว่า 15-20% ของการขนส่งสินค้าจะถูกเปลี่ยนเส้นทางจากมาเลเซียและสิงคโปร์ทันทีที่สะพานแลนด์บริดจ์เปิดใช้งาน พร้อมเสริมว่า “จากปริมาณปี 2565 ของท่าเรือกลัง อยู่ที่ 13.22 ล้านหน่วยเทียบเท่า (TEU) ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 2.4 พันล้านริงกิตนั้น คาดว่ารายรับจะลดลงจาก 360 ล้านริงกิต ถึง 480 ล้านริงกิต” 

 

มุมมองมาเลเซีย “แลนด์บริดจ์” อาจทำ \"ท่าเรือกลัง\" ยอดให้บริการวูบ 20%

 

ข้อได้เปรียบสำหรับปีนัง มาเลเซีย

นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย-อาเซียน กล่าวว่า หากท่าเรือปีนังดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ขนส่งในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขนส่งทางรถไฟมายังประเทศไทย “แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าท่าเรือในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และความสามารถในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” เขากล่าวเสริม 

แม้ว่าผลกระทบของสะพานแลนด์บริดจ์อาจก่อให้เกิดความกังวลในมาเลเซีย แต่ก็มีบางคนที่ไม่กังวลมากนัก

Alvin Chua รองประธานสมาพันธ์ผู้ขนส่งสินค้าแห่งมาเลเซีย กล่าวว่า ต้นทุนเพิ่มเติมในการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือไทยทั้งสองแห่ง น่าจะช่วยในเรื่องความประหยัดจากระยะเวลาเดินทางที่สั้นลงได้พอๆ กัน พร้อมเสริมว่า “การขนถ่ายสินค้ามีราคาแพง โดยอาจมีราคาอยู่ที่ 125,000 ถึง 150,000 เหรียญสหรัฐต่อลำ ต่อวัน” นอกจากนี้ กระบวนการใหม่นี้จะต้องใช้เรือสองลำแทนที่จะเป็นลำเดียวในการส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง

Karisma Putera Rahman เห็นด้วยว่า กระบวนการเทียบท่า การขนส่งสินค้าทางถนนเป็นระยะทางมากกว่า 100 กม. จากนั้นก็บรรจุลงเรืออีกลำหนึ่งนั้น อาจลดปริมาณการใช้งานสะพานแลนด์บริดจ์ลงได้ “ดังนั้น ผลกระทบที่แท้จริงทางเศรษฐกิจของโครงการดังกล่าวต่อมาเลเซีย จึงยังคงไม่แน่นอน จับต้องไม่ได้” Karisma กล่าวเสริม

ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์

โครงการดังกล่าวยังคงทำให้เกิดข้อกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้างมากขึ้น เส้นทางภาคพื้นดินจะช่วยให้เรือของจีนสามารถเลี่ยงท่าเรือของมาเลเซียได้ ซึ่งถือเป็นการประนีประนอมกับชิปต่อรองที่มาเลเซียมีในความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีน 

Karisma Putera Rahman กล่าวอีกว่า “นี่อาจทำให้ความสามารถในการสร้างสมดุลความสัมพันธ์ที่มีระหว่างมหาอำนาจทั้งสองของมาเลเซียเกิดความซับซ้อนมากขึ้น และอาจทำให้ความสามารถในการดำเนินการตามกลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศมีความซับซ้อน เนื่องจากมาเลเซียมีบทบาทในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมสำหรับสหรัฐฯ และจีน”

ด้าน นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) มองว่านี่เป็น “การเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด” ของไทย ในการรับประกันการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในและรอบๆ ท่าเรือทั้งสองแห่ง และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการหลายอย่าง เพื่อปรับปรุงภาวะเศรษฐกิจในภาคใต้ แต่ตอนนี้ได้แต่หวังเพียงว่าจะสามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว” 

หลังจากได้มีการเสนอโครงการนี้ให้กับนักลงทุนจากประเทศจีนและซาอุดิอาระเบีย นายกฯเศรษฐา กล่าวว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างงานได้ 280,000 ตำแหน่ง และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ถึง 5.5%

 

แหล่งที่มา : Free Malaysia Today (FMT)