Land Bridge (แลนด์บริดจ์) เป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม โดยกระทรวงคมนาคมบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยงสองท่าเรือให้เชื่อมต่อถึงกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ
โดยจะมีการสร้างท่าเรือชุมพรให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัยนำระบบ Automation ระบบที่สามารถทำงานและช่วยควบคุมการทำงานให้มีประสิทธิภาพได้ด้วยตัวเองมาใช้ ก้าวเข้าสู่ Smart Port และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาให้เป็น Landbridge
ด้วยการพัฒนาท่าเรือระนองให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้ BIMSTEC ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมถึงพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และรถไฟทางคู่ อย่างครบครัน
ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ระบุประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดตั้งโครงการไว้ ดังนี้
โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หวังว่า โครงการนี้จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศและทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่เจริญรุ่งเรือง และได้กล่าวในระหว่างการประชุมการลงทุนไทย-จีน ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 66 ไว้ว่า นี่จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับโลก ซึ่งจะลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าผ่านช่องทางช่องแคบมะละกาลง 6-9 วัน
รวมถึงได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยพร้อมต้อนรับนักลงทุนจีนเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ และสัญญาจะปรับปรุงความสะดวกในการทำธุรกิจในราชอาณาจักรในอนาคต
ไม่เพียงเท่านั้น นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ยังหอบเอาโครงการยักษ์นี้ เดินทางไปซานฟรานซิสโก เพื่อเข้าร่วม การประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และนำเสนอต่อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ รับรู้เกี่ยวกับโครงการ Land Bridge ที่มีมูลค่าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานกว่า 28 พันล้านดอลล่าร์ ซึ่งจะกลายเป็นเส้นทางการค้าทางเลือกผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตัวโครงการมีโครงสร้างพื้นฐานประกอบในระยะทางยาว 100 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยที่เรือไม่ต้องแล่นลงไปตามปลายสุดของสิงคโปร์ผ่านช่องแคบมะละกา อันเป็นพื้นที่ที่ประสบความแออัด เกิดเหตุการชนกัน และมีการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ ทางการไทยประเมินว่าแลนด์บริดจ์จะลดระยะเวลาการขนส่งโดยเฉลี่ย 4 วัน และลดค่าขนส่งลง 15%
ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่นายกฯเศรษฐา ได้เสนอโครงการแลนด์บริดจ์ให้กับนายกรัฐมนตรี Li Qiang ของจีนและนักลงทุนชาวจีนในเดือนตุลาคม ระหว่างการประชุม Belt and Road Forum ในกรุงปักกิ่ง ก็มีรายงานว่านักลงทุนชาวจีนและนักลงทุนจากซาอุดิอาระเบียแสดงความสนใจ
มาครั้งนี้ นายกฯเศรษฐา จึงได้เน้นย้ำกับนักลงทุนสหรัฐในงาน Thailand Landbridge Roadshow ที่ซานฟรานซิสโก ถึงโครงการที่ประเทศไทยมีเป้าหมายจะทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2582 ว่าจะมีแนวทางช่วยรักษาการไหลเวียนของสินค้าจากความจุของช่องแคบมะละกาที่เผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น
มุมมองและความคิดเห็นของนักวิเคราะห์และนักวิชาการ
แชนเนลนิวส์เอเชีย (Channel NewsAsia) หรือ CNA ในสิงคโปร์รายงานว่า โครงการแลนด์บริดจ์นี้ได้รับการออกแบบเพื่อเป็นเส้นทางการค้าใหม่ ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยจะประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง บนชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศไทย
ตลอดจนระบบรางและถนนที่เชื่อมโยงทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน ท่าเรือด้านตะวันออกจะตั้งอยู่ที่จังหวัดชุมพร บริเวณอ่าวไทย ส่วนอีกแห่งหนึ่งจะอยู่ในจังหวัดระนอง ฝั่งทะเลอันดามัน โดยนายเศรษฐาได้กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 35.6 พันดอลลาร์สหรัฐ
นักวิเคราะห์กล่าวถึงแผนที่ประเทศไทยจะสร้างสะพานแลนด์บริดจ์ความยาว 90 กิโลเมตรข้ามภาคใต้ ซึ่งเป็นการค้าทางเรือที่เลี่ยงผ่านมาเลเซียและสิงคโปร์นั้น ทำได้ง่ายกว่าคลองกระ หรือคลองไทย (โครงการขุดคลองขนาดใหญ่ตัดผ่านภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการขนส่งภายในพื้นที่และเพื่อเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย) ที่ทอดยาว
แม้ว่าจะยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สูงชันก็ตาม ทั้งนี้ รวมถึงด้านต้นทุนการก่อสร้างหลายพันล้านดอลลาร์ ปัญหาด้านความปลอดภัยในพื้นที่ทางใต้ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งของประเทศไทย และภูมิประเทศที่เป็นภูเขาซึ่งคาดว่าจะเป็นที่ตั้งของโครงการ
เมื่อพิจารณาจากสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเดินเรือและการปฎิบัติการที่มีมายาวนานในช่องแคบมะละกา นักวิเคราะห์ยังเตือนด้วยว่า โครงการริเริ่มสะพานแลนด์บริดจ์ของไทยอาจจบลงด้วยความล้มเหลว หากไม่ได้รับการวางแผนอย่างรอบคอบ
Antonio L Rappa รองศาสตราจารย์จากคณะวิชาธุรกิจ มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์แห่งสิงคโปร์ ได้กล่าวถึงการลงทุนครั้งนี้ว่า “มีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป” และเตือนว่าการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทยที่สงบนิ่ง รวมถึงภูมิประเทศที่เป็นภูเขาของที่ตั้งโครงการ อาจมีผลกระทบต่อการก่อสร้าง
พร้อมเผยว่า “หากโครงการได้รับการพัฒนาอย่างประสบความสำเร็จ มันจะส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างมีนัยยะสำคัญในอีกอย่างน้อย 50 ปีนับจากนี้”
ทั้งนี้ โครงการสร้างเส้นทางการเดินเรือใหม่ เชื่อมต่ออ่าวไทยกับทะเลอันดามันนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากเป็นโครงการที่ได้รับการศึกษามาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งต้องการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศไทยและเปลี่ยนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเอเชีย
ทั้งนี้หากดูจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จะเห็นถึงแนวคิดที่ให้มีการสำรวจการขุดคลองกระ ซึ่งเป็นส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมลายูในจังหวัดระนองและชุมพร แต่การพยายามทำโครงการขุดคลองกระของรัฐบาลก็เป็นอันล้มเหลวมาตลอดหลาย 10 ปี
ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ยอมรับว่า การขุดค้นนี้ถูกหยุดชะงักโดยการเมืองภายในประเทศ และความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านความมั่นคงภายใน และแม้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับคลอง แต่ถือเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ซึ่งอาจต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายที่รวมไปถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย
พร้อมชี้ให้เห็นว่าการทะเลาะวิวาทกันในพื้นที่ทะเลอาณาเขตนั้น เกี่ยวข้องกับหลากหลายประเทศ เช่น จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยการสร้างเส้นทางเดินเรือทะเลใหม่นี้ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่พิพาท ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากมันสามารถผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ข้อพิพาทอาณาเขตในทะเลจีนใต้ได้ รวมถึงไม่สามารถลืมได้ว่า เส้นทางเดินเรือทางทะเลเกี่ยวข้องกับผลกำไรทางเศรษฐกิจมหาศาลและเสถียรภาพทางการเมืองในภูมิภาค
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการขุดคลองกระที่เคยมีการเสนอ โครงการแลนด์บริดจ์ควรลดความกังวลของสาธารณะชนเกี่ยวกับกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทย เพราะเมื่อมีการพูดถึงคลองนี้ ผู้คนมักกลัวว่าจะเป็นการแยกประเทศไทยออกเป็นสองส่วน ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ที่สงบนิ่ง แต่โครงการนี้คือการสร้างทางด่วนข้ามไปเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีการขุดคลอง
ขณะที่ ดร. Mohd Hazmi Mohd Rusli คณะ Syariah and Law จาก Universiti Sains Islam ประเทศมาเลเซีย เผย โครงการแลนด์บริดจ์อาจเริ่มต้นขึ้นได้ หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักอย่างจีนยืนกรานที่จะลงทุน และเป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้มากกว่าโครงการคลองกระที่ต้องมีการขุดคลอง
อย่างไรก็ตาม ดร. Mohd Hazmi Mohd Rusli เชื่อว่า ประเทศไทยจะต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอให้กับท่าเรือทั้งสองชายฝั่ง เพื่อดึงดูดผู้ใช้งานที่มีศักยภาพ และด้วยเรือส่วนใหญ่ต้องการที่จะใช้เส้นทางช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์กันตามปกติ เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งเพียงพอ และกะลาสีเรือเองก็คุ้นเคยกับการใช้เส้นทางนี้เช่นกัน
ดังนั้นหากไม่มีการวางแผนและการเตรียมการอย่างรอบคอบ แนวคิดโครงการแลนด์บริดจ์จะกลายเป็นโครงการท่อส่ง Yan-Bachok (โครงการท่อส่งน้ำมันความยาว 310 กิโลเมตร ที่มาเลเซียมีการเสนอตั้งแต่ต้นปี 2550 เพื่อขนส่งน้ำมันจากเมือง Yan ใน Kedah ชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซีย ไปยังเมือง Bachok ในรัฐ Kelantan ทางตะวันออก และออกสู่ทะเลจีนได้) ที่ถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้
ข้อได้เปรียบของท่าเรือสิงคโปร์
Chee Hong Tat รัฐมนตรีอาวุโสแห่งรัฐในกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ กล่าว แม้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ที่เสนอให้ตัดข้ามภาคใต้ของประเทศไทย อาจช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางสำหรับเรือบางลำได้ แต่ผู้ส่งสินค้าอาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ การประหยัดเวลาที่แน่นอนจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
ดังนั้น บริการขนส่งจำเป็นต้องพิจารณาต้นทุนโดยรวมเทียบกับผลประโยชน์ พร้อมกล่าวว่ากุญแจสำคัญสำหรับท่าเรือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก คือการมุ่งเน้นไปที่การรักษาความสามารถในการแข่งขันและความเกี่ยวข้องกัน
โครงการแลนด์บริดจ์มีมูลค่าอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือราว 38 พันล้านดอลล่าร์สิงคโปร์และจากที่มีรายงานว่าการก่อสร้างจะเริ่มในปี 2568 และจะแล้วเสร็จในปี 2573 เมื่อถามถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสถานะของสิงคโปร์ในฐานะเมืองท่าระดับโลก
รัฐมนตรีฯ Chee Hong Tat ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อได้เปรียบที่สำคัญของสาธารณรัฐคือ ความเชื่อมโยงและเครือข่าย (ที่เกิดจากการที่ผู้ใช้งานกลุ่มหนึ่ง กระจายข่าวต่ออีกกลุ่มหนึ่ง) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง “ยิ่งมีคนเข้าใช้บริการที่ฮับแห่งใดแห่งหนึ่งมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีคุณค่าต่อคนอื่นๆ ในเครือข่ายมากขึ้นเท่านั้น”
พร้อมเสริมว่า สิงคโปร์ได้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างหนัก เพื่อเพิ่มผลผลิตของการปฎิบัติการท่าเรือที่นี่ ซึ่งการพัฒนาท่าเรือ Tuas ที่เปิดอย่างเป็นทางการในปี 2565 จะทำให้สาธารณรัฐสามารถรองรับเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดได้ และทำให้บริษัทขนส่งมีขีดความสามารถและการเชื่อมต่อที่ตอบสนองความต้องการในอนาคต
ทั้งนี้เมื่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2583 ท่าเรือ Tuas จะเป็นท่าเรือระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความจุ 65 ล้านหน่วยเทียบเท่าขนาดตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต (TEU) เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ท่าเรือของสิงคโปร์รองรับตู้สินค้าได้ 37.3 ล้าน TEU ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่สูงเป็นอันดับสอง ซึ่งนับเป็นประวัติการของประเทศ
แหล่งที่มา : สนข. , Channel NewsAsia (CNA) , TIME , THE STRAITS TIMES