ย้อนรอย เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทำเงินลงทุน ITD จม 7.8 พันล้าน

10 ธ.ค. 2566 | 06:17 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2566 | 07:05 น.

ย้อนรอย เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หนึ่งในสาเหตุสำคัญ ฉุดเงินลงทุน บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ จม 7.8 พันล้านบาท ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบมุมน่าสนใจสรุปไว้ที่นี่

บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ “ITD” บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ กำลังตกเป็นข่าวว่าเกิดปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ 5 แบงก์พาณิชย์ ต้องเข้ามาช่วยอุ้มด้วยการลงขันจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มของคนในแวดวงตลาดทุน หลังเห็นสัญญาณอันตรายเกี่ยวกับสภาพคล่องมาก่อนหน้านี้

มุมมองของคนในแวดวงตลาดทุน เห็นว่า ปัญหาใหญ่ของ ITD อาจมาจากการลงทุนในโครงการระดับเมกกะโปรเจกต์หลายโครงการแล้วเกิดปัญหาขึ้น เป็นผลมาจากสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย การดำเนินโครงการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะหนึ่งในบิ๊กโปรเจกต์ข้ามประเทศ คือ การลงทุนใน โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในประเทศเมียนมา มูลค่าเฉียด 8 พันล้านบาท

หลังจากประสบปัญหาความล่าช้า รวมไปถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเมียนมาเข้ามากระทบ แม้ว่าโครงการนี้ในหลายรัฐบาลก่อนได้จุดพลุโครงการ หวังเป็นหนึ่งในเกมเชนเจอร์สปลุกเศรษฐกิจของภูมิภาคให้กลับมาน่าดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก 

 

ย้อนรอย เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทำเงินลงทุน ITD จม 7.8 พันล้าน

 

สำหรับข้อมูลเชิงลึกในการขับเคลื่อนโครงการทวายของ ITD นั้น “ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบข้อมูลจาก บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัด ผู้ตรวจสอบบัญชี ได้จัดทำหมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ณ วันที่ 30 กันยายน 2566

เกี่ยวกับต้นทุนการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (“DSEZ”) ในเมียนมา เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิสัมปทานในงบการเงินรวมจำนวนรวม 7,863.42 ล้านบาท และในงบการเงินเฉพาะ 5,205.96 ล้านบาท มีข้อมูลดังนี้

หลังจาก ITD ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการดังกล่าวจากหน่วยงานรัฐบาลของเมียนมา ซึ่งบริหารโครงการโดยคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (“DSEZ MC”) ในปี 2553 ITD ได้จัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นเพื่อลงทุนทางอ้อม โดยได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทาน รับสิทธิในการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะเริ่มแรก 

เพื่อพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 27 ตารางกิโลเมตร และโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง 8 โครงการสัมปทาน โดย ITD มีเงินลงทุนในบริษัทย่อย และเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่กลุ่มบริษัท เพื่อลงทุนพัฒนาโครงการดังกล่าวในงบการเงินรวมจำนวนรวม 2,476.27 ล้านบาท และ 111.79 ล้านบาท ในงบการเงินเฉพาะของบริษัท

 

ย้อนรอย เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทำเงินลงทุน ITD จม 7.8 พันล้าน

 

ต่อมาในปี 2556 โครงการทวาย ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา ด้วยการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Dawei SEZ Development Company Limited หรือ “SPV”) ร่วมกันผลักดันและกำหนดนโยบายการพัฒนาโครงการ และได้มีการพิจารณาให้สิทธิกับบริษัทให้ได้รับการชดเชยเงินคืนในส่วนของเงินลงทุนพัฒนาโครงการทวายที่กลุ่มบริษัทได้ลงทุนไปก่อนหน้า จากผู้ลงทุนรายใหม่ของแต่ละโครงการ 

ตามข้อสรุปรายงาน Due Diligence ภายใต้สัญญา Tripartite Memorandum หรือได้รับสิทธิพัฒนาที่ดินในโครงการเพิ่มเติม (Land Right Option) สำหรับการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะเริ่มแรก

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 กลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานสำหรับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะเริ่มแรก ได้รับหนังสือจากคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แจ้งยกเลิกสิทธิสัมปทานทุกโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะเริ่มแรก 

โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานผิดเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานเกี่ยวกับการจ่ายชำระค่าสิทธิสัมปทานรายปี และผิดเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานโครงการนิคมอุตสาหกรรมและถนนสองเลนเชื่อมต่อพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและชายแดนไทย-เมียนมา (Initial Industrial Estate and Two-lane Road) โดยคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย 

หนังสือดังกล่าวได้มีการแจ้งให้กลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานนี้ดำเนินการให้ ITD ลงนามหนังสือขอยกเลิกสิทธิในการได้รับชดเชยเงินลงทุนที่กลุ่มบริษัทได้ลงทุนไปก่อนหน้าภายใต้สัญญา Tripartite Memorandum 

 

ย้อนรอย เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทำเงินลงทุน ITD จม 7.8 พันล้าน

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 กลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานได้ส่งหนังสือโต้แย้งเกี่ยวกับเหตุแห่งการยกเลิกสิทธิสัมปทาน เพื่อชี้แจงกลับไปยังคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เนื่องจากเห็นว่าการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมนั้น ทางกลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานไม่ได้เห็นชอบด้วย เพราะเป็นการกำหนดขึ้นเพียงฝ่ายเดียวของคู่สัญญา 

นอกจากนี้กลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานยังได้เสนอไปยังคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเพื่อขอเจรจาหารือร่วมกันในประเด็นดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอหน่วยงานดังกล่าวพิจารณาหารือร่วมกัน

บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัด ผู้ตรวจสอบบัญชี มีความเห็นว่า แม้ว่าสิทธิในการได้รับเงินชดเชยเงินลงทุนในการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่กลุ่มบริษัทได้ลงทุนไปก่อนหน้า ยังคงเป็นไปตามสัญญา Tripartite Memorandum 

อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่กลุ่มบริษัทจะได้รับชดเชยนั้น ขึ้นอยู่กับผลสรุปของรายงาน Due Diligence ซึ่งบริษัทยังไม่มีสิทธิในการเข้าถึงรายงานดังกล่าวได้ และขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะสมบูรณ์ (Full Phase) ซึ่งอาศัยการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาในการผลักดันโครงการสัมปทานต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการเข้ามาลงทุนของผู้ร่วมทุนรายใหม่ที่สนใจลงทุนในแต่ละโครงการสัมปทาน 

ขณะที่ผู้บริหารของกลุ่มบริษัทไม่สามารถประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของต้นทุนระหว่างพัฒนาสำหรับสิทธิในสัมปทาน - โครงการทวาย ว่าจำนวนเงินที่จะได้รับชดเชยคืนนั้นจะมีมูลค่าสูงกว่าหรือต่ำกว่าต้นทุนพัฒนาโครงการที่กลุ่มบริษัทได้บันทึกไว้ในงบการเงินหรือไม่ 

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการแจ้งยกเลิกสิทธิสัมปทานทุกโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะเริ่มแรก (“DSEZ Initial Phase”) ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (“DSEZ MC”) ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ในปัจจุบัน 

อีกทั้งสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจภายในของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ยังคงมีความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงการดังกล่าวของกลุ่มบริษัทในอนาคต 

บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัด ผู้ตรวจสอบบัญชี จึงมีความเห็นว่าเห็นว่ายังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (ถ้ามี) ต่อยอดคงเหลือของต้นทุนระหว่างพัฒนาสำหรับสิทธิในสัมปทาน - โครงการทวาย ในงบการเงินรวมและเฉพาะของบริษัท และต่อมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อย และเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่กลุ่มบริษัทย่อยในงบการเงินเฉพาะของบริษัท และไม่สามารถพิจารณาผลกระทบที่อาจมีต่องบการเงินรวมและเฉพาะของบริษัท เนื่องจากความไม่แน่นอนและข้อจำกัดของสถานการณ์