จากการที่นายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับการที่คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง) 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล มีมติขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.37% ซึ่งคาดจะบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยเห็นว่าเป็นการปรับขึ้นน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้ปรับขึ้นมานาน ในขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน จึงได้ให้ไปทบทวนค่าจ้างใหม่ โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 จะนำประเด็นนี้มาพิจารณาหารือกันอีกรอบ
ทั้งนี้ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา มีมติขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาท ครอบคลุม 77 จังหวัด โดยเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 2.37% จังหวัดที่ได้ค่าจ้างสูงสุด คือ ภูเก็ต อัตราค่าจ้าง 370 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นวันละ 16 บาท (เดิม 354 บาทต่อวัน) คิดเป็น 4.52% ส่วนจังหวัดที่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างต่ำสุดของประเทศได้แก่ 3 จังหวัดใต้ (นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ) อยู่ที่ 330 บาท เพิ่มขึ้นอีก 2 บาท (จากเดิม 328 บาทต่อวัน) หรือคิดเป็น 0.61%
โดยนายกรัฐมนตรี ได้ตอบข้อซักถามช่วงหนึ่ง ในประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และกล่าวถึงการปรับค่าแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ขึ้นเพียง 2 บาท ว่า " ไม่เข้าใจว่าทำไมขึ้นแค่ 2-3 บาท ยอมรับว่าตนไม่สบายใจ ไม่อย่างนั้นแรงงานไทยจะติดกับรายได้ต่ำ ต้องคุยทั้งไตรภาคีและในครม. ต้องขึ้นไปสูงกว่านี้ แต่ต้องฟังเหตุผลเขาเหมือนกัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น 2-3 บาท ซื้อไข่ฟองหนึ่งยังไม่ได้เลย ส่วนการปรับเพิ่มค่าแรงจำนวนมากอาจมีปัญหาย้ายฐานผลิตออกจากประเทศไทยนั้นเป็นวาทกรรม ไม่มีใครย้ายเพราะค่าแรงขึ้นจาก 300 บาท เป็น 400 บาท รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมด้านอื่นๆ การขึ้นค่าแรงต้องดูตามความเหมาะสม จังหวัดใหญ่อาจได้ถึง 400 บาท จังหวัดเล็กอาจไม่ถึง รัฐบาลประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย"
" ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน สถิติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2561-2566 ของ 3 จังหวัดใต้ ( ปัตตานี นราธิวาส และยะลา) ย้อนหลัง 5 ปี พบว่าค่าจ้างขั้นต่ำได้ปรับขึ้นรวมทั้งสิ้น 28 บาท ก่อนที่บอร์ดค่าจ้างมีมติอนุมัติปรับขึ้นปี 2567 อีก 2 บาท เป็น 330 บาทต่อวัน หรือปรับขึ้นในอัตรา 0.61%
รายละเอียดดังนี้