"สุริยะ vs สส.ก้าวไกล" ผ่าปัญหา"ค่าแท็กซี่-รถสาธารณะภูเก็ต

12 ธ.ค. 2566 | 18:04 น.
อัพเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2566 | 23:35 น.

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่การตั้งกระทู้ ของ "เฉลิมพงศ์ แสงดี สส.ก้าวไกล" และการตอบกระทู้แบบคำต่อคำ โดย "รมว.คมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ"  กับการแก้ไขปัญหาค่าโดยสารรถแท็กซี่ และรถโดยสารสาธารณะในจังหวัดภูเก็ต

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กระทู้ถามของ นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดภูเก็ต ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เรื่อง การแก้ไขปัญหาค่าโดยสารรถแท็กซี่ และรถโดยสารสาธารณะในจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ตอบกระทู้ดังกล่าว 

 

คําถามที่ 1


สส.ก้าวไกล ถามว่า กระทรวงคมนาคม มีแนวทางในการบริหารจัดการการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการและเสียค่าใช้จ่าย ในราคาที่เหมาะสมอย่างไร ขอทราบรายละเอียด

นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดภูเก็ต

คําตอบ

รมว.คมนาคม ตอบว่า กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก ขอเรียนว่า ทางเลือกสําหรับประชาชน และนักท่องเที่ยวในการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ได้รับการบริการที่สะดวกสบาย และเสียค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ดังนี้

รถโดยสารประจําทาง

เส้นทางหมวด 1 ในเขตเมือง มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้ประกอบการเดินรถ จํานวน 3 เส้นทาง รายละเอียด ดังนี้

  1. สายที่ 1 เส้นทางสะพานหิน - ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลภูเก็ต
  2. สายที่ 2 เส้นทางท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง - ห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์ซิป
  3. สายที่ 3 าเทียบเรือรัษฎาภูเก็ต - ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ (สวนน้ํา) และอยู่ระหว่างการประกาศรับคําขอเพื่อพิจารณาหาผู้สมควรได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เป็นการทั่วไป ในเขตอําเภอกะทู้ (ป่าตอง) จํานวน 2 เส้นทาง

เส้นทางหมวด 4 มีผู้ประกอบการเดินรถ จํานวน 11 เส้นทาง ซึ่งมี เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานภูเก็ต รายละเอียด ดังนี้

  1. สายที่ 1811 เส้นทางภูเก็ต - ท่าฉัตรไชย (ช่วงภูเก็ต - บ้านไม้ขาว)
  2. สายที่ 1812 เส้นทางภูเก็ต - กมลา
  3. สายที่ 1813 เส้นทางภูเก็ต - อ่าวบางโรง
  4. สายที่ 1814 เส้นทางภูเก็ต - ป่าตอง
  5. สายที่ 1815 เส้นทางภูเก็ต - หาดราไวย์ - หาดในหาน
  6. สายที่ 1818 เส้นทางภูเก็ต - อ่าวมะขาม - สถาบันวิจัยชีววิทยาทางทะเล
  7. สายที่ 8359 เส้นทางภูเก็ต - กะรน - หาดกะตะน้อย
  8. สายที่ 8360 เส้นทางภูเก็ต - อ่าวฉลอง
  9. สายที่ 8357 เส้นทางท่าอากาศยานภูเก็ต - หาดสุรินทร์ - หาดป่าตอง - หาดราไวย์
  10. สายที่ 8411 เส้นทางสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดภูเก็ต - ท่าอากาศยานภูเก็ต
  11. สายที่ 8581 ส้นทางท่าอากาศยานภูเก็ต - ป่าตอง - บ้านกะตะ และอยู่ระหว่าง การประกาศรับคําขอเพื่อพิจารณาหาผู้สมควรได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งเป็นการทั่วไปจํานวน 1เส้นทาง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

โดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งจังหวัดภูเก็ตได้กําหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมสําหรับรถโดยสารประจําทางเส้นทางหมวด 1 และหมวด 4 ในจังหวัดภูเก็ต เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ของประกาศคณะควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทางการกําหนดอัตราค่าโดยสาร รถโดยสารประจําทาง หมวด 1 ส่วนภูมิภาค และหมวด 4 ส่วนภูมิภาค รถขนาดเล็ก และรถโดยสาร ไม่ประจําทางเพื่อการรับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 9 คน

ทั้งนี้ สําหรับการยกระดับมาตรฐานการให้บริการรถโดยสารประจําทางในเขตเมืองภูเก็ตปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ดําเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้จัดหารถโดยสารไฟฟ้าปรับอากาศมาให้บริการผู้โดยสารในเขตเมืองต่อไป

 

รถโดยสารสาธารณะ

จังหวัดภูเก็ตมีรถโดยสารสาธารณะให้บริการหลัก 4 ประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์
ของการให้บริการที่แตกต่างกัน รายละเอียด ดังนี้

รถโดยสารไม่ประจําทาง

รถโดยสารไม่ประจําทางตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 โดยมีลักษณะเป็นรถเช่าเหมาคัน มีทั้งลักษณะเป็นรถบัสโดยสาร รถตู้โดยสาร มีค่าเช่าตามที่ตกลงกัน โดยมีจํานวนรถบัสโดยสารจํานวน 2,105 คัน และรถตู้โดยสารจํานวน 4,589 คัน

นอกจากนี้ ยังมีรถโดยสารไม่ประจําทางที่มีลักษณะเป็นรถสี่ล้อเล็กรับจ้างอีกจํานวน 514 คัน

 

รถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่)

การให้บริการรถแท็กซี่เป็นการให้บริการรถโดยสารสาธารณะทางเลือก ที่มีการกําหนดอัตราค่าโดยสารตามพื้นที่การจดทะเบียนรถแท็กซี่ โดยกระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศ กระทรวงคมนาคม เรื่อง กําหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร

สําหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI-METER) ที่จดทะเบียนในจังหวัดภูเก็ต ประกาศ ณ วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกําหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจาก ค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสําหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI-METER) ที่จดทะเบียนในจังหวัดภูเก็ต ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ให้กําหนด ดังนี้

  • ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 50 บาท
  • ระยะทางกิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 15 กิโลเมตรละ 12 บาท
  • ระยะทางกิโลเมตรที่ 15 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 10 บาท


กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อัตรานาทีละ 1 บาท


ข้อ 2 ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ให้กําหนด ดังนี้

  • (1) กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารเรียกรถยนต์รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร เพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 50 บาท
  • (2) กรณีการจ้างจากภายในท่าอากาศยานภูเก็ต ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 100 บาท

ทั้งนี้ รถแท็กซี่จําเป็นจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์อื่นและมาตรค่าโดยสารตามกฎกระทรวง ว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน เพื่อให้ประชาชนเลือกใช้บริการได้สะดวกและสามารถแสดงค่าโดยสารได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม

 

รถยนต์บริการ (รถยนต์ป้ายเขียว หรือรถลีมูซีน)

การให้บริการรถยนต์บริการ (รถยนต์ป้ายเขียว) แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รถยนต์บริการธุรกิจ เป็นการให้บริการรับส่งผู้โดยสารระหว่างท่าอากาศยาน ท่าเรือเดินทะเล สถานีขนส่ง หรือสถานีรถไฟกับโรงแรมที่พักอาศัย โดยมีสัญญาว่าจ้างและปริมาณงาน

ซึ่งผู้ว่าจ้าง ต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมจากกระทรวงมหาดไทย และรถยนต์บริการทัศนาจร เป็นการให้บริการรับส่งคนโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวโดยมีสัญญาว่าจ้างและปริมาณงาน ซึ่งผู้ว่าจ้างต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนําเที่ยวจากกรมการท่องเที่ยว โดยในการให้บริการรถยนต์บริการ(รถยนต์ป้ายเขียว) เป็นการให้บริการเฉพาะกลุ่มและขึ้นอยู่กับมาตรฐานบริการที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ จะทําการตกลงกัน

อย่างไรก็ดี ค่าโดยสารส่วนใหญ่จะตั้งตามเพดานที่คณะกรรมการพิจารณา กําหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารฯ สําหรับรถยนต์สาธารณะและรถยนต์บริการ จังหวัดภูเก็ตกําหนด

 

รถยนต์รับจ้างผ่านระบบแอปพลิเคชัน

การให้บริการรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน มีหลักการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน ให้ประชาชนนําทรัพยากรที่ตนมีอยู่มาใช้ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทางเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) โดยการให้ประชาชนสามารถนํารถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้บริการรับจ้างได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมออกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กําหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร และค่าบริการอื่นสําหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 และกฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 เพื่อกําหนด กรอบอัตราค่าโดยสารของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบแอปพลิเคชัน ดังต่อไปนี้
ดังนี้

อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กําหนด

  • (1) รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก
    • ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40-55 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 6-10 บาท
  • (2) รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดกลาง
    • ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 45-50 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 7-12 บาท
  • (3) รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่
    • ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 100-150 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 12-16 บาท

กรณีที่ระบบคํานวณอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าประเมินว่าสภาพการจราจรจะทําให้รถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติวิสัย การคิดอัตราค่าโดยสารของรถตามให้คํานวณเพิ่มในอัตรานาทีละ 2 บาท

 

ค่าบริการอื่น

ให้กําหนดเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารตามข้อ 2 ดังนี้

  • (1) กรณีการจ้างผ่านระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เรียกเก็บเพิ่มในอัตรา ๒๐ บาท
  • (2) ค่าบริการเพิ่มกรณีที่ปริมาณรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่สมดุลกับ ความต้องการใช้บริการ ให้เรียกเก็บเพิ่มในอัตราไม่เกินหนึ่งเท่าของค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 200 บาท

 

คําถามที่ 2

สส.ก้าวไกล ถามว่า กระทรวงคมนาคม มีแนวทางในการแก้ไขกฎหมายให้อํานาจเฉพาะกับส่วนราชการของจังหวัดภูเก็ตในการบริหารจัดการเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะในจังหวัดภูเก็ตจะได้หรือไม่ อย่างไรขอทราบรายละเอียด

 

คําตอบ

ปัจจุบันการดําเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะในจังหวัดอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ดังนี้

 

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522

มาตรา 17 กําหนดให้มีคณะกรรมการควบคุม การขนส่งทางบกประจําจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่เป็นกรรมการ โดยมีขนส่งจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอํานาจหน้าที่ภายในเขตจังหวัดที่รับผิดชอบ ทั้งการขนส่งประจําทาง และการขนส่งไม่ประจําทาง

โดยในการขนส่งประจําทางจะเป็นผู้ดําเนินการกําหนดเส้นทาง จํานวนผู้ประกอบการขนส่ง และจํานวนรถโดยสารประจําทางในเขตจังหวัดของตนเอง รวมถึงมีอํานาจหน้าที่ ในการกําหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม ตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้มีการกระจายอํานาจไว้เมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจําจังหวัดสามารถกําหนดอัตราค่าโดยสารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางการกําหนดอัตราค่าโดยสารที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้ออกประกาศไว้

 

พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522

ขนส่งจังหวัดภูเก็ต ในฐานะนายทะเบียนจังหวัดภูเก็ตมีหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบ การจดทะเบียนรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) ส่วนการจดทะเบียนรถยนต์บริการ อํานาจให้ความเห็นชอบ เป็นของอนุกรรมการพิจารณาเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจําทาง ประจําจังหวัดภูเก็ต

ดังนั้น โครงสร้างกฎหมายปัจจุบันจึงครอบคลุมบทบาทหน้าที่การบริหารจัดการเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะในจังหวัดแล้ว

 

คําถามที่ 3 

สส.ก้าวไกล ถามว่า กระทรวงคมนาคม มีมาตรการแก้ไขปัญหาการกําหนดราคาค่าโดยสาร ของรถโดยสารสาธารณะในจังหวัดภูเก็ตให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ป้ายเหลือง ป้ายเขียวและรถป้ายดํามาวิ่งให้บริการเรียกผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่าง ด้านราคาค่าโดยสารที่มากเกินไปจะได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

 

คําตอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ตอบว่า เนื่องจากการให้บริการรถยนต์รับจ้างในจังหวัดภูเก็ตมีความหลากหลาย และมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ซึ่งจากข้อเท็จจริงพบว่า รถยนต์รับจ้างในจังหวัดภูเก็ตมีข้อขัดแย้งอันเกิดจากการให้บริการ ที่ไม่เป็นไปตามหลักการการให้บริการ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างรถยนต์รับจ้างแต่ละประเภท

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและพิจารณาปัญหาอย่างรอบด้าน กรมการขนส่งทางบก ได้จัดทําโครงการศึกษาเพื่อยกระดับการให้บริการรถแท็กซี่ให้มีความปลอดภัยและยั่งยืน ซึ่งจะครอบคลุมการบริหารจัดการรถยนต์รับจ้างและอัตราค่าโดยสารของระบบรถยนต์รับจ้างในจังหวัดภูเก็ตด้วย

อย่างไรก็ตาม หากจังหวัดภูเก็ตหรือภาคเอกชนของจังหวัดภูเก็ตมีข้อมูลหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับ การกําหนดอัตราค่าโดยสารเป็นประการใดสามารถส่งความคิดเห็นให้สํานักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต เพื่อจัดส่งข้อมูลมาให้กรมการขนส่งทางบก หรือจัดส่งข้อมูลให้กรมการขนส่งทางบกโดยตรงก็ได้ เพื่อประกอบการพิจารณาให้การกําหนดค่าโดยสารเป็นไปด้วยความรอบคอบ เหมาะสม เป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่จังหวัดภูเก็ตต่อไป

\"สุริยะ vs สส.ก้าวไกล\" ผ่าปัญหา\"ค่าแท็กซี่-รถสาธารณะภูเก็ต

\"สุริยะ vs สส.ก้าวไกล\" ผ่าปัญหา\"ค่าแท็กซี่-รถสาธารณะภูเก็ต

 

อ่านกระทู้ฉบับเต็ม : ราชกิจจานุเบกษา