ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศฯ (R-Map) โดย 1 ในนั้น คือ โครงการรถไฟสายใหม่ สนามบินนานาชาติกระบี่ – สนามบินนานาชาติภูเก็ต ซึ่งจะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่พาดผ่าน 4 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี-พังงา-กระบี่-ภูเก็ต
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีแผนขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่มีความสำคัญเชิงพื้นที่ระหว่างปี 2566-2570 พบว่ามีโครงการที่เร่งผลักดัน คือ โครงการรถไฟสายใหม่ สนามบินนานาชาติกระบี่ – สนามบินนานาชาติภูเก็ต ระยะทาง 149.50 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 43,511 ล้านบาท
ทั้งนี้การก่อสร้างของโครงการรถไฟสายใหม่ สนามบินนานาชาติกระบี่ – สนามบินนานาชาติภูเก็ต จะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.เส้นทางท่านุ่น-สนามบินนานาชาติภูเก็ต ระยะทาง 18 กม. วงเงินลงทุน 14,712 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 8.08% โดยจะศึกษาความเหมาะสมของโครงการและจัดทำอีไอเอภายในปี 2567 และเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) รวมทั้งเสนอต่อครม.เห็นชอบภายในปี 2568
หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้างภายในปี 2569 และเปิดประมูลประมาณกลางปี 2569 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณภายในปี 2570 จะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2573
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า 2.เส้นทางท่านุ่น-ทับปุด ระยะทาง 63.5กม. วงเงินลงทุน 11,598 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 17.14% โดยจะเสนอต่อสผ.พิจารณารายงานอีไอเอภายในปี 2567 และเสนอครม.อนุมัติโครงการภายในกลางปี 2567 หลังจากนั้นจะเปิดประมูลไม่เกินกลางปี 2568 และดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้างภายในปี 2568 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณภายในกลางปี 2568 จะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2571
3.เส้นทางทับปุด-สนามบินนานาชาติกระบี่ ระยะทาง 68 กม. วงเงินลงทุน 17,201 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 9.78% ตมแผนจะศึกษาความเหมาะสมของโครงการและจัดทำอีไอเอภายในปี 2567 และเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) รวมทั้งเสนอต่อครม.เห็นชอบภายในปี 2568 หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้างภายในปี 2569 และเปิดประมูลประมาณกลางปี 2569 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณภายในปี 2570 จะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2573
ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-map) โดย 1 ในนั้นมีการเสนอเส้นทางโครงข่ายรถไฟสุราษฎร์ธานี-พังงา- กระบี่-ภูเก็ต โดยจะเป็นการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเขตทางรถไฟเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้โครงการรถไฟสายใหม่ สนามบินนานาชาติกระบี่ – สนามบินนานาชาติภูเก็ต จะเชื่อมท่าเรือดอนสัก ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้เดินทางไปเกาะสมุย กับสนามบินภูเก็ต โดยแนวเส้นทางผ่านพื้นที่บ้านท่าฉัตรไชย จ.ภูเก็ต และเส้นทางทับปุด-กระบี่ ซึ่งแยกจากเส้นทางสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต ที่สถานีทับปุด ลงมาเชื่อมต่อกับสนามบินกระบี่ ครอบคลุมเขตพื้นที่จังหวัดพังงา 1 อำเภอ คือ ทับปุด และกระบี่ 2 อำเภอ คือ อ่าวลึกและเมืองกระบี่
สำหรับแนวเส้นทางของโครงการฯ จำนวน 12 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีสนามบินภูเก็ต 2.สถานีท่านุ่น 3.สถานีท่าอยู่ 4.สถานีตะกั่วทุ่ง 5.สถานีพังงา 6.สถานีบ่อแสน 7.สถานีทับปุด 8.สถานีอ่าวลึก 9.สถานีคลองหิน 10.สถานีทับปริก 11.สถานีกระบี่น้อย และ 12.สถานีสนามบินกระบี่ โดยเป็นการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร รองรับความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อย่างไรก็ตามหากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ ทำให้เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวผ่าน 4 จังหวัด สุราษฎร์ธานี-พังงา-กระบี่-ภูเก็ต โดยเชื่อมสนามบินภูเก็ต กระบี่ และท่าเรือดอนสัก ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางเหลือ 1 ชั่วโมง 20 นาที