นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟทางสายใหม่ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางรางของประเทศ โครงการพัฒนารถไฟทางคู่สายใต้ จะมีความพร้อมเปิดให้บริการครบตลอดเส้นทางภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางของประเทศให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย
ทั้งยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ ตลอดจนเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเปิดประตูทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการเจริญเติบโตสู่ภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคตอันใกล้
กระทรวงคมนาคมได้อัพเดทการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ที่ปัจจุบันรุดหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม - หัวหิน ช่วงหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ และช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร มีความก้าวหน้าอย่างมาก
ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับต่อการเพิ่มประสิทธิการเดินรถไฟทางคู่สายใต้ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ
นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ และตรวจเยี่ยมสถานีรถไฟอีกหลายแห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการเดินรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงแรก ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร ที่เริ่มเปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 รองรับการเดินทางของผู้โดยสารในช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ติดตามโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ในครั้งนี้ ได้เริ่มตรวจเยี่ยมตั้งแต่สถานีรถไฟชุมพรแห่งใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารและส่วนประกอบเพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ พร้อมทั้งยังได้ตรวจเยี่ยมโรงซ่อมรถจักรชุมพร ซึ่งได้กำชับให้การรถไฟฯ เร่งปรับปรุงรถจักรล้อเลื่อนที่มีอยู่ให้มีความพร้อมต่อการให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้บริการแก่ผู้โดยสารสูงสุด
จากนั้น ได้นำคณะเดินทางโดยขบวนรถพิเศษจากสถานีชุมพร - สวนสนประดิพัทธ์ เพื่อตรวจสอบความพร้อมในการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงแรกระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร ระยะทาง 348 กิโลเมตร
ปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างงานโยธา คืบหน้าไปกว่า 97 % เป็นไปตามเป้าหมาย และเปิดให้บริการช่วงแรกได้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 รองรับการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่จะมีพี่น้องประชาชนใช้บริการรถไฟจำนวนมาก ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
ส่วนการเปิดบริการช่วงสอง ระหว่างสถานีนครปฐม ถึงสถานีบ้านคูบัว มีเป้าหมายเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนเมษายน 2567 ซึ่งขอให้การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินการในด้านต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด ทั้งยังได้มีการตรวจดูแลความเรียบร้อยการเปิดให้บริการสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ ซึ่งได้เปิดบริการไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังได้เดินทางตรวจเยี่ยมสถานีรถไฟสวนสนประดิพัทธ์แห่งใหม่ ซึ่งการรถไฟฯ ได้มีการขยายสถานีต้นทาง/ปลายทางขบวนรถธรรมดาที่ 261/262 จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) – หัวหิน – กรุงเทพ (หัวลำโพง)ไปเป็น สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) – สวนสนประดิพัทธ์ – กรุงเทพ (หัวลำโพง)
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว สามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นใกล้อำเภอหัวหินได้อย่างสะดวก ซึ่งการรถไฟฯ จะได้เร่งปรับปรุงทางเดินข้ามทางรถไฟ เพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวภายในสถานี
ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมรับฟังการบรรยายโครงการการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใต้ในระยะถัดไปหลายโครงการ ประกอบด้วย
ทั้งนี้เพื่อขยายเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งได้เริ่มศึกษาไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 ดังนั้น ในส่วนของกระทรวงคมนาคม จึงมอบหมายให้การรถไฟฯ ทำการศึกษา สำรวจ ออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนองควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สอดรับกับโครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์
โดยล่าสุด การรถไฟฯ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ
โดยจะมีการก่อสร้างย่านสถานีบริเวณจุดเชื่อมต่อประแจและทางแยกสถานีนาผักขวง ในโครงการ SSI’s Distribution Hub (ด้านเหนือ) และโครงการ SSI’s Logistics Terminal (ด้านใต้) เพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า จากสถานีนาผักขวงเข้าสู่พื้นที่โครงการนิคมอุสาหกรรมของกลุ่มบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ระยะทาง 2.138 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรางสู่อุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน และท่าเรือน้ำลึก
โดยโครงการนี้มีความสำคัญมากต่อการช่วยเสริมศักยภาพการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันการรถไฟฯ และ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางและรูปแบบการเชื่อมโยงในอนาคต
การรถไฟฯ มีแผนจะปรับปรุงชุดขบวนรถโดยสารให้ใช้งานเป็นรถ Power Car จำนวน 192 คัน เพื่อช่วยลดมลภาวะทางเสียง และสิ่งแวดล้อม รวมถึงประหยัดพลังงานให้กับประเทศ, การปรับปรุงตู้โดยสารชั้น 3 ให้เป็นตู้โดยสารปรับอากาศ, การปรับปรุงห้องน้ำขบวนรถโดยสารให้เป็นห้องน้ำระบบปิดทั้งหมด, และการปรับปรุงบันไดทางขึ้นลงขบวนรถโดยสารให้สามารถรองรับชานชาลาแบบสูง
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ภายในตู้โดยสาร อาทิ ติดตั้งระบบ Wifi ช่องเสียบ USB ติดตั้งระบบหน้าจอ Touchscreen ใช้ระบบ Infotainment เชื่อมต่อ Youtube Netflix กับขบวนรถดีเซลราง (Daewoo) จำนวน 39 คัน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณปี 2567 และแล้วเสร็จในปี 2568