เปิดข้อเท็จจริง “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 2567 หลังแรงงาน ดึงกลับทบทวนใหม่

17 ธ.ค. 2566 | 22:49 น.

เปิดเอกสารรายงานข้อเท็จจริง “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 2567 หลัง มติครม. รับทราบกระทรวงแรงงาน ขอดึงกลับไปทบทวนใหม่ ฟังเหตุผลที่แท้จริง เหตุใดรัฐบาลถึงยังไม่ไฟเขียว เช็ครายละเอียดได้ที่นี่

กรณีการปรับ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ปี 2567 หรือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ของแรงงานทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หารือถึงมติคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอเข้ามาเป็นวาระเพื่อทราบ แต่ที่ประชุมยังไม่มีมติรับทราบ หลัง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอถอนวาระออกไป เพื่อนำกลับไปหารืออีกครั้งนั้น

ล่าสุด สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เผยแพร่เอกสารด่วนที่สุด ที่ นร 0505/26588 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2566 แจ้งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 เพื่อยืนยันผลการหารือเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำที่กระทรวงแรงงานเสนอเข้ามาในที่ประชุมครม. โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ภาพประกอบข่าวการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2567

 

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุว่า ตามที่ได้เสนอเรื่อง การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ไปเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบ ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีข้อสังเกตว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ที่เสนอในครั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้กำหนดสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ โดยนำเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน อัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานจังหวัด เฉลี่ย 5 ปี (ปี 2560 - 2564) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 ปี (ปี 2562 - 2566) มาประกอบการพิจารณา 

อย่างไรก็ตาม โดยที่ในช่วงปี 2563 - 2564 ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

ดังนั้น การนำข้อมูลในช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ดังกล่าว มาใช้ประกอบการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ด้วย อาจไม่สะท้อนถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันอย่างแท้จริง

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงานในภาพรวมมากยิ่งขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีข้อสังเกต และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแจ้งข้อสังเกตดังกล่าวต่อคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อพิจารณา ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวกับฐานเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ว่า กระทรวงแรงงาน ได้มีการตั้งข้อสังเกตและขอนำกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม เพราะส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการนำหลักการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ โดยใช้ฐานปี 2563-2564 มาเป็นสูตรคำนวณ โดยจะเสนอไปยังคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาเพิ่มเติมใหม่อีกครั้ง

สำหรับการพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้ เมื่อนำกลับไปพิจารณาใหม่ กระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า การดำเนินการจะทำให้เร็วที่สุดและจะได้ข้อสรุปให้เดือนธันวาคม 2566 นี้ เพื่อให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ตามกำหนดเดิมต่อไป