ข้อมูลจาก กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ไต้หวัน ประสบ ภาวะขาดแคลนแรงงาน อย่างหนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 เป็นต้นมา รัฐบาลไต้หวันอนุญาตให้นายจ้าง นำเข้าแรงงานต่างชาติ ได้ โดยมีกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวัน (Workforce Development Agency, Ministry of Labor) เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลนโยบายและการบริหารแรงงานต่างชาติ
ทั้งนี้ ไต้หวันจะเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติได้เฉพาะกิจการที่ขาดแคลนแรงงาน โดยคุณสมบัติของนายจ้างและเงื่อนไขขั้นตอนการนำเข้าต้องเป็นกิจการที่ขาดแคลนแรงงานจริง โดยเฉพาะกิจการที่เป็นงานหนัก งานสกปรก และงานอันตราย กระทรวงแรงงานเป็นผู้กำหนดโควตานำเข้าแรงงานต่างชาติของแต่ละกิจการตามความรุนแรงของสภาพการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงภาคการก่อสร้าง ผู้อนุบาลดูแลคนป่วยและคนสูงอายุในครัวเรือนและในสถานพักฟื้น
ในส่วนภาคการเกษตร รัฐบาลไต้หวันทดลองเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากฟาร์มโคนม และการจ้างเหมาบริการภาคการเกษตร ประเภทละ 400 คน ต่อมาในปี 2563 ได้ขยายการนำเข้าแรงงานต่างชาติในภาคการเกษตรในสาขาต่างๆ อาทิ ฟาร์มสุกร แพะ เป็ด ไก่ ฟาร์มกล้วยไม้ เพาะเลี้ยงเห็ด สวนผัก เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น
สำหรับโควตาการนำเข้าแรงงานต่างชาติ ซึ่งรวมถึงแรงงานไทยนั้น ไต้หวันจะกำหนดโควตาของแต่ละประเภทกิจการ เช่น ภาคการผลิต อุตสาหกรรมประเภท 3K (ได้แก่ งานหนัก งานสกปรก และงานอันตราย) จะได้รับการจัดสรรโควตาการนำเข้าแรงงานต่างชาติตามประเภทกิจการ โดยแบ่งตามอัตราส่วน 5 ระดับ ได้แก่ ร้อยละ 10 ร้อยละ 15 ร้อยละ 20 ร้อยละ 25 และร้อยละ 35 ของยอดจำนวนแรงงานท้องถิ่นที่ว่าจ้าง
หากเป็นกิจการที่เป็นงานหนัก งานสกปรก และงานอันตรายมากยิ่งขึ้น จะได้รับโควตานำเข้าแรงงานต่างชาติมากขึ้น ทั้งนี้ นายจ้างที่ได้รับอนุญาตนำเข้าแรงงานต่างชาติ จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อความมั่นคงในการทำงานของแรงงานท้องถิ่น จำนวน 2,000 ดอลลาร์ไต้หวัน/คน/เดือน
กรณีสัดส่วนการนำเข้าแรงงานต่างชาติดังกล่าว หากยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ประกอบการ กระทรวงแรงงานไต้หวันได้ประกาศมาตรการให้นายจ้างที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับข้อกำหนด สามารถขอโควตาพิเศษเพิ่มเติมได้จากโควตาเดิมที่ได้รับอยู่แล้ว แต่เมื่อรวมกับโควตาเดิมแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 40 โดยนายจ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มตามร้อยละโควต้าพิเศษที่ได้รับเพิ่มด้วย
ปัจจุบัน ไต้หวันยังคงมีความต้องการแรงงานต่างชาติเพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นผลมาจากประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น จากรายงานการคาดการณ์ประชากรของสภาพัฒนาแห่งชาติ ไต้หวัน (พ.ศ.2563-2613) พบว่า ไต้หวันจะกลายเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2568 โดยมีประชากรสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่อัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำ
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นมา ไต้หวันได้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นสำหรับแรงงานทั่วไป (แรงงานไร้ฝีมือ)ในภาคการผลิต ก่อสร้าง และเกษตร เป็น เดือนละ 26,400 ดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 29,832 บาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ไต้หวัน เท่ากับ 1.13 บาท) หรือเท่ากับ ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 880 ดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 994 บาท) ไม่รวมแรงงานภาคสวัสดิการสังคม ซึ่งจะทำให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น และดึงดูดแรงงานต่างชาติให้มาทำงานที่ไต้หวันมากขึ้น โดยไต้หวันเองก็ยังคงต้องการแรงงานต่างชาติในหลายภาคส่วน อาทิ
แรงงานทั่วไป (แรงงานไร้ฝีมือ)
แรงงานต่างชาติในตำแหน่งผู้อนุบาล :
จากภาวะการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไต้หวันส่งผลให้มีความต้องการแรงงานต่างชาติในตำแหน่งผู้อนุบาลจำนวนมาก ซึ่งในสาขาดังกล่าวแรงงานอินโดนีเซียครองตลาดผู้อนุบาลสูงสุด โดยมีจำนวนผู้อนุบาลมากกว่า 160,000 คน ตามด้วยเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ส่วนไทยมีจำนวนประมาณ 400 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานเก่าที่นายจ้างให้ความไว้ใจ และมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากตำแหน่งไม่เป็นที่นิยมของแรงงานไทย อีกทั้งเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนสูง รวมถึงอาศัยร่วมกับเจ้าของบ้าน และไม่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันภัยแรงงานเหมือนแรงงานในภาคส่วนอื่น แรงงานไทยจึงนิยมทำงานในภาคการผลิตที่มีความเป็นส่วนตัวและมีกิจกรรมทางสังคมสูงกว่า
แรงงานต่างชาติภาคก่อสร้าง :
ไต้หวันมีโครงการก่อสร้างที่สำคัญหลายโครงการ และมีความต้องการแรงงานก่อสร้างจำนวนมาก อาทิ โครงการก่อสร้างอาคาร 3 ของท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน โครงการก่อสร้างและขยายรถไฟฟ้า รวมถึงโครงการต่างๆ ภายใต้นโยบายพลังงานสีเขียว เป็นต้น
แรงงานต่างชาติภาคการผลิต :
ในปีที่ผ่านมา (2565)อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ผู้ส่งออกไต้หวันเผชิญกับการลดลงของอุปสงค์ทั่วโลกในช่วงครึ่งหลัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อซึ่งกระตุ้นให้เกิดวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงโดยธนาคารกลางรายใหญ่ทั่วโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ใช้จ่าย นอกจากนี้ การรุกรานยูเครนโดยรัสเซียยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน ที่ส่งผลให้อุปสงค์ทั่วโลกปั่นป่วน อย่างไรก็ตาม นายจ้างยังคงมีความต้องการแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง
แรงงานต่างชาติภาคเกษตร :
ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ไต้หวันอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติเป็นครั้งแรกเพื่อตอบสนองภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนดังกล่าวเนื่องจากประชากรในชนบทมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น ซึ่งแรงงานท้องถิ่นในภาคการเกษตรมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากไต้หวันประกาศเปิดพรมแดนเมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยปรับการใช้ชีวิตร่วมกับโรคโควิด-19 (หลังจากที่มีการควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวดตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) นายจ้างไต้หวันมีความต้องการแรงงานไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติของกระทรวงแรงงานไต้หวัน ปัจจุบัน มีการอนุมัติการยื่นขอจ้างแรงงานไทยมากกว่า 65,000 คน
แรงงานระดับทักษะฝีมือ
ปัจจุบัน ประชากรวัยทำงานของไต้หวันลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำในขณะที่อัตราประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกลายเป็นแรงกดดันต่อผู้ประกอบการไต้หวันที่มีความต้องการผู้ที่มีทักษะเฉพาะด้าน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีการวางแผน 3 ด้าน คือ
ไต้หวันอนุญาต แรงงานที่มีฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาทำงานในสาขาต่างๆ โดยมี อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 47,971 ดอลลาร์ไต้หวันต่อเดือน (ประมาณ 54,207 บาท) ดังนี้
การยกระดับแรงงานกึ่งฝีมือ
กระทรวงแรงงานไต้หวันมีประกาศ วันที่ 30 เมษายน 2565 ให้นายจ้างสามารถยื่นขอว่าจ้างแรงงานต่างชาติที่มีอายุการทำงานต่อเนื่องครบ 6 ปีขึ้นไป หรือมีอายุงานสะสมครบตามระยะเวลาที่กฎหมายการจ้างงานกำหนด 12 ปี หรือ 14 ปี ทั้งแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง ลูกเรือประมง เกษตร และแรงงานต่างชาติในภาคสวัสดิการสังคม (ผู้อนุบาลในองค์กรและในครัวเรือน) ที่มีทักษะฝีมือ และนายจ้างยินยอมจ่ายค่าจ้างตามเกณฑ์กำหนด เป็น "แรงงานกึ่งฝีมือ" ได้ โดยไม่ถูกจำกัดระยะเวลาทำงานเหมือนแรงงานต่างชาติทั่วไป เมื่อทำงานในสถานะแรงงานกึ่งฝีมือต่อเนื่องครบ 5 ปีแล้ว สามารถขอถิ่นที่อยู่ถาวรได้ด้วย สมารถตรวจสอบเงื่อนไขและขั้นตอนการยกระดับแรงงานต่างชาติทั่วไปเป็นแรงงานกึ่งฝีมือแรงงานกึ่งฝีมือ ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก กระทรวงแรงงาน และ สำนักงานแรงงานไทย ณ ไทเป