นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการเพื่อหาแนวทางยกระดับสินค้าชุมชน และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในพื้นที่
ทั้งนี้ ล่าสุดได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และไปศึกษาดูงานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์ ที่อยู่ในเครือบริษัท ทุ่งสุวรรณภูมิ ออร์แกนิคฟาร์ม จำกัด อำเภอแม่แตง ซึ่งได้รับการพัฒนาด้านมาตรฐานจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 และเรียนรู้ด้วยตนเองต่อยอดมาจนได้รับรองมาตรฐาน อย. มาตรฐานรับรองออร์แกนิค (Organic)
โดยมีแนวคิดในการพัฒนาและสร้างความมั่นคงสู่เกษตรกรในชุมชน และ ISO 9001 เป็นที่ยอมรับในตลาดสากล สามารถขายส่งออกหลักในประเทศแถบอเมริกาและยุโรปได้ต่อเนื่อง
ส่วนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตภัณฑ์ใยกัญชงทรายทอง ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตผ้าใยกัญชง และผลิตภัณฑ์จากผ้าใยกัญชง ที่มีคุณสมบัติเด่น คือ การให้ความอบอุ่น สวมสบาย ไม่ยับ ไม่อับชื้น และทนทาน โดยนำมาออกแบบถักทอผสมฝ้าย ย้อมสีธรรมชาติเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์อนุรักษ์ธรรมชาติจนได้รับการรับรองมาตรฐานการเพาะปลูกและผลิต USDA , EU Organic GHP และ Halal ที่ช่วยสร้างรายได้ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับกลุ่มปีละหลายล้านบาท
"จังหวัดเชียงใหม่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นชัดเจน และมีชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาหาร วัฒนธรรม และการแต่งกาย ทำให้นักท่องเที่ยวและทั่วโลกได้รู้จักเป็นที่ยอมรับ ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นชุมชน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 ชุมชนดังกล่าวถือเป็นแบบอย่างกลุ่มเกษตรกรที่ดี ที่สามารถสร้างความสามัคคี พัฒนาผลิตภัณฑ์ จนสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญและช่วยกันผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และให้ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวอย่างยั่งยืน"
อย่างไรก็ตาม ในกิจการเกษตรอินทรีย์ยังมีความต้องการในการพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ยอมรับตามหลักฮาลาลแต่ละประเทศทั่วโลกซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งแก้ไขและขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจ ในด้านใยกัญชงเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ BCG เพราะสินค้าทุกชิ้นทำจากใยกัญชง 100% ดังนั้นการตลาดจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องเร่งสร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดการซื้อขายที่เห็นผลกำไรอย่างเป็นรูปธรรม