"กรอ.-เอกชน"ดันใช้ประโยชน์กากอุตสาหกรรม มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก

13 ธ.ค. 2566 | 07:21 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2566 | 07:21 น.

"กรอ.-เอกชน"ดันใช้ประโยชน์กากอุตสาหกรรม มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตอบสนองนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมหนุนผู้ประกอบการเกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน

ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.ได้ดำเนินการร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ,การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และบริษัทเอกชน

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกากอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และผลักดันการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กรอ.ให้ความสำคัญและผลักดันหลักการ End-of-Waste หรือการสิ้นสุดของการเป็นของเสียในประเทศไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน 

โดยมีเป้าหมายมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน และภายใต้ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการพัฒนานำกากของเสียอุตสาหกรรมไปเพิ่มมูลค่า และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง ซึ่งให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้งาน 

"กรอ.-เอกชน"ดันใช้ประโยชน์กากอุตสาหกรรม มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยในโครงการนำร่องได้คัดเลือกของเสียที่มีศักยภาพ 2 ชนิด  ได้แก่ ขี้เถ้าแกลบ และแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ ซึ่งรวมถึงปูนพลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้ว  

การศึกษานำร่องของทั้งสองโครงการได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ให้ความสำคัญกับการนำของเสียที่มีศักยภาพนำกลับมาเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อีสเทิร์น ซิลิเกต จำกัด และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เข้าร่วมโครงการการศึกษาเพื่อผลิตสารละลายไบโอโซเดียมซิลิเกตและไบโอโพแทสเซียมซิลิเกตอย่างยั่งยืนจากขี้เถ้าแกลบ 
 

อย่างไรก็ดี ในส่วนการศึกษาและดำเนินการเพื่อนำร่องทดสอบการนำแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ และปูนพลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้วกลับมาผลิตเป็นแผ่นยิปซัมสำหรับการใช้ในงานก่อสร้าง ได้รับความร่วมมือจากบริษัท อินทรี ซุปเปอร์บล็อก จำกัด บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย 

“ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้  กรอ.มุ่งหวังให้เป็นต้นแบบสำหรับผู้ประกอบการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่จะนำไปสู่การขยายผลการดำเนินงาน สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และร่วมกันผลักดันงานด้านความยั่งยืนภายใต้โมเดล Bio-Circular-Green (BCG) ตามทิศทางของประเทศไทย เพื่อรักษาสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” 

ดร.อุมา วิรัตน์สกุลชัย ผู้ประสานงานโครงการ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวในการใช้ประโยชน์จากกากอุตสาหกรรม และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานภายใต้โครงการ: Application of industry-urban symbiosis and green chemistry for low emission and persistent organic pollutants free industrial development in Thailand ที่ดำเนินการโดยองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก หรือ GEF และมี กรอ.เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกนอ. และส.อ.ท. ในการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

นายพิษณุ จารุพัฒนะสิริกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. ร่วมกับ UNIDO และหน่วยงานพันธมิตร พัฒนาแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนของเสีย หรือ Circular Material Hub (CMH) สำหรับเป็นช่องทางการนำกากของเสียอุตสาหกรรมไปเพิ่มมูลค่า โดยอาศัยแนวคิดการเปลี่ยนของเสียจากอุตสาหกรรมหนึ่ง ไปสู่การเป็นวัตถุดิบหรือ Materials ให้อีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ตามหลักการ End of Waste ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขยายผลความร่วมมือทางวิชาการ สู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ได้กว้างขึ้น