นายกฯ กล่อมบิ๊ก 30 บริษัทญี่ปุ่น ลงทุน "แลนด์บริดจ์" ในไทย

18 ธ.ค. 2566 | 02:56 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2566 | 03:24 น.

นายกฯ พบบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัท ชวนลงทุนโครงการ "แลนด์บริดจ์" ในไทย ชี้โอกาสทองของนักลงทุนทั่วโลก เชื่อช่วยขนส่งสินค้าได้ในปริมาณมากและประหยัดที่สุด

วันนี้ (18 ธันวาคม 2566) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการเปิดสัมมนางาน "Thailand Landbridge Roadshow" เพื่อแจ้งข้อมูลภาพรวมของโครงการ "แลนด์บริดจ์" และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทให้ความสนใจร่วมเข้ารับฟัง

โดยได้นำเสนอข้อมูลของโครงการแลนด์บริดจ์ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากนักลุงทุนชาวญี่ปุ่น ซึ่งทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 40% รองลงมาเป็นทวีปยุโรป ที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 38% ซึ่งการค้าขายส่วนใหญ่จะอาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก เนื่องจากขนส่งได้ในปริมาณมากและประหยัดที่สุด และการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปนั้นส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา

ช่องแคบมะละกา จึงจัดได้ว่าเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลหลักในภูมิภาค โดยตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วน 25% ของจำนวนตู้สินค้าที่ขนส่งทั่วโลก รวมทั้ง การขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนมากกว่า 60% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก จึงจัดได้ว่าช่องแคบมะละกามีปริมาณการเดินเรือที่คับคั่ง และแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

 

นายกฯ กล่อมบิ๊ก 30 บริษัทญี่ปุ่น ลงทุน \"แลนด์บริดจ์\" ในไทย

 

สำหรับปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดขึ้นในท่าเรือต่างๆ ที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกามีอยู่ประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี และจำนวนเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกามีประมาณ 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าในปี 2573 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือ เพื่อรอเรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า ทำให้เกิดค่าเสียโอกาส และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า

ทั้งนี้ไทยได้เห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยใช้ทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ที่สามารถพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ไทย จึงเชื่อว่าโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญ ที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น 

โดยมีความได้เปรียบของเส้นทางที่ประหยัดกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลาสำหรับการขนส่งตู้สินค้าผ่าน แลนด์บริดจ์ ผ่านช่องแคบมะละกาแล้วนั้น พบว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง หรือ Feeder ที่ขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย
 

นายกฯ กล่อมบิ๊ก 30 บริษัทญี่ปุ่น ลงทุน \"แลนด์บริดจ์\" ในไทย

 

นายกฯ ระบุว่า ปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ หรือ Mainline แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปยังประเทศผู้บริโภค 

ส่วนในอนาคตเมื่อมีโครงการ แลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 5 วัน

สำหรับสินค้าซึ่งผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งโดยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศผู้บริโภค เมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะมาถ่ายลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 3 วัน

 

นายกฯ กล่อมบิ๊ก 30 บริษัทญี่ปุ่น ลงทุน \"แลนด์บริดจ์\" ในไทย

 

ส่วนกลุ่มสินค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทย ไปออกที่แลนด์บริดจ์ ด้วยเรือ Feeder ไปยังประเทศผู้บริโภคต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง โครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากถึง 35% และประหยัดเวลาได้มากถึง 14 วัน

ดังนั้น เฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าว ผ่านแลนด์บริดจ์จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของแลนด์บริดจ์ จะอยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือต่าง ๆ ในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%

ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการแบบขั้นต่ำ (Conservative) และพิจารณา การเชื่อมโยงสินค้าที่เกิดจากเรือ Feeder มาต่อเรือ Feeder เท่านั้น ยังไม่รวมโอกาสที่เรือขนาดใหญ่ หรือ Mainline จะเข้ามาเทียบท่าในโครงการ Landbridge ในอนาคต

ส่วนการขนส่งน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลาง พบว่าในปัจจุบันมีการขนส่งน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่ 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งหากใช้ แลนด์บริดจ์ เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 6%

 

นายกฯ กล่อมบิ๊ก 30 บริษัทญี่ปุ่น ลงทุน \"แลนด์บริดจ์\" ในไทย

 

อีกทั้งในการลงทุนโครงการนี้ นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร โดยผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในภาคเกษตรกรรม และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น

โดยโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในภาพรวม โดยคาดว่าจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตในเศรษฐกิจร่วมกัน พร้อมย้ำว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มขึ้น จากโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค และในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก