“เศรษฐา” ลุยดึงบิ๊กทุน BOI มั่นใจปี 67 เกิน 6 แสนล. เทสลา กูเกิล ไมโครซอฟท์มาแน่

15 ธ.ค. 2566 | 07:28 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2566 | 07:48 น.

บีโอไอชี้ลงทุนโลกมุ่งหน้าอาเซียน มั่นใจขอรับส่งเสริมไทยปี 67 เกิน 6 แสนล้าน ลุ้นนายกฯถก 7 ค่ายรถญี่ปุ่นดึงลงทุนเพิ่ม ขณะยักษ์ใหญ่มะกัน Tesla, Western Digital, AWS, Google, Microsoft โชว์แผนลงทุนเริ่มชัด บิ๊กทุนจีนพร้อมลุย เอกชนกังวลค่าไฟ ค่าแรงพุ่งฉุดเชื่อมั่นต่างชาติ

การลงทุนภาคเอกชน อีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 หรือปีมะโรงที่จะมาถึงมีทิศทางแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งจากนักลงทุนต่างชาติ (FDI) โดยล่าสุดในการเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีและคณะ (14-18 ธ.ค. 66)ได้พบปะและหารือกับบริษัทชั้นนำระดับโลกของญี่ปุ่นในหลากหลายสาขา ที่สำคัญคือในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น 7 บริษัท (กราฟิกประกอบ) เพื่อดึงการลงทุนเพิ่ม จากก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา จีน และซาอุดีอาระเบีย เพื่อชักชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ของแต่ละประเทศมาลงทุน /ขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมตามลำดับ

“เศรษฐา” ลุยดึงบิ๊กทุน BOI มั่นใจปี 67 เกิน 6 แสนล. เทสลา กูเกิล ไมโครซอฟท์มาแน่

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในการพบและหารือกับผู้บริหารของค่ายรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น 7 ค่าย ในครั้งนี้ (Toyota, Honda, Mazda, Nissan, Suzuki, Mitsubichi, Isuzu) มีประเด็นสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับการลงทุนของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น และพร้อมที่จะสนับสนุนให้ใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของภูมิภาค และร่วมเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีที่มุ่งสู่ความสะอาด ประหยัดพลังาน และการขับเคลื่อนอัจฉริยะ

ทั้งนี้การลงทุนของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมกว่า 260,000 ล้านบาท จ้างงานคนไทยโดยตรงกว่า 45,000 คน และในช่วง 3 ปีล่าสุด มีการผลิตรถยนต์รวมกันกว่า 4.3 ล้านคัน

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ

“กิจกรรมที่ญี่ปุ่น ยังมีการจัดประชุมหารือเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ที่บีโอไอร่วมกับกระทรวงคมนาคม โดยจะเชิญบริษัทญี่ปุ่นร่วมให้ความเห็น เช่น ผู้บริหารท่าเรือ สายการเดินเรือ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ บริษัทการเงินและประกันภัย และตัวแทนภาคอุตสาหกรรมการผลิต”

  • ภาพชัดมะกัน-จีนขยายลงทุน

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ในการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา และจีน เพื่อดึงการลงทุนเข้าไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน 4 กลุ่มหลักคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (เช่น Tesla Geely) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น Western Digital, ADI, Fabrinet, HP, Xiaomi) อุตสาหกรรมดิจิทัล (เช่น AWS, Google, Microsoft, OpenAI, Meta, TikTok, Booking.com, Apple, Huawei, Alibaba, Tencent, GDS) ธุรกิจบริการ การเงิน และการค้า (เช่น Walmart, Ping An, CITIC, ธนาคารและกองทุนต่าง ๆ) ซึ่งมีทั้งบริษัทรายใหม่ และบางส่วนเป็นบริษัทที่มีฐานธุรกิจอยู่บ้างแล้วในไทย แต่อยากเชิญชวนให้ขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มเติม รวมทั้งให้มาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค และช่วยพัฒนาทักษะของบุคลากรในไทยด้วย

นายนฤตม์ เผยว่า ในการติดตามผลหลังการเดินทางของบีโอร่วมกับทีมงานของนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความคืบหน้าของทุกโครงการอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า กรณี Tesla มีความสนใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เห็นได้จากการจัดตั้งบริษัทและศูนย์บริการขนาดใหญ่ในไทยในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากบีโอในกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Tesla Supercharger) เงินลงทุนระยะแรกกว่า 100 ล้านบาท และในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทได้เดินทางมาศึกษาโอกาสการลงทุนในไทยตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี

 “การเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในไทยของเทสลา แสดงถึงความสนใจในประเทศไทยและเป็นโอกาสที่ไทยจะเป็นฐานการลงทุนของเทสลาในภูมิภาคนี้ โดย Tesla ไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ แต่ยังประกอบธุรกิจอื่น ๆ ด้วย เช่น การผลิตแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน”

อีกตัวอย่างในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) คือ บริษัท Geely ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน โดยบีโอไอได้หารือกับบริษัทมาอย่างต่อเนื่องผ่านสำนักงานบีโอไอที่เซี่ยงไฮ้ และตนได้มีโอกาสเดินทางไปพบผู้บริหาร Geely เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ จากนั้นเมื่อนายกฯ ได้พบและสร้างความมั่นใจกับผู้บริหารบริษัทระหว่างการเยือนมาเลเซียและจีนในเดือนตุลาคม บีโอไอได้มีการติดตามความคืบหน้าของบริษัทอย่างใกล้ชิด จนนำมาสู่การหารือแผนการลงทุนในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ในส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่นายกรัฐมนตรีได้พบกับผู้บริหาร หลายรายมีฐานธุรกิจในไทยอยู่บ้างแล้ว เช่น Western Digital, ADI, Fabrinet หรือกลุ่มซัพพลายเออร์ของ HP ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชั้นนำของโลก ที่ต้องการเชิญชวนให้ขยายการลงทุนให้มากขึ้น ซึ่งการหารือเป็นไปด้วยดี บริษัทเหล่านี้ได้มองเห็นศักยภาพของประเทศไทย และมองว่ามีโอกาสที่จะขยายการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ ทั้งในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็น Smart Electronics หรือการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นนํ้า เช่น การผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ การผลิตและทดสอบแผ่นเวเฟอร์ หรือการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในชั้นนี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเชิงลึกได้

  • เทสลา กูเกิล-ไมโครซอฟท์ลุย

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะธุรกิจ Data Center และ Cloud Service นายกรัฐมนตรีได้พบกับผู้ให้บริการ Cloud รายใหญ่ 3 อันดับแรกของโลก คือ Amazon Web Service (AWS) มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 32 รองลงมาคือ Microsoft (ร้อยละ 22) และ Google (ร้อยละ 11) ซึ่งทั้ง 3 รายมีความคืบหน้าอย่างชัดเจน โดยในส่วนบริษัท AWS ได้ยืนยันเดินหน้าแผนการลงทุนในไทยกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 15 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงทุนสร้าง Data Center ขนาดใหญ่ 3 แห่งในภาคตะวันออก คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2567

 “สำหรับกูเกิล และไมโครซอฟท์ เราได้ติดต่อประสานงานกับบริษัทมาต่อเนื่องเป็นเวลาพอสมควร จนได้มีการนัดหมายผู้บริหารเข้าพบท่านนายกฯ ในการเยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกในเดือนกันยายน จากนั้นได้ติดตามความคืบหน้าร่วมกับทีมงานของท่านนายกฯ จนนำมาสู่การลงนาม MOU ของทั้งสองบริษัท ร่วมกับรัฐบาลไทยโดยกระทรวงดิจิทัลฯ ตามที่ได้ประกาศในการเยือนสหรัฐฯ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน”

โดยที่ Google ได้ประกาศแผนการลงทุน Cloud Region ในประเทศไทย และได้จัดงาน Google Digital Samart Thailand โดยนายกรัฐมนตรี บีโอไอ และกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เข้าร่วมงานเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ Microsoft ก็ได้เดินหน้าศึกษารายละเอียดการลงทุน Data Center ในประเทศไทยด้วย

ขณะที่บริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มดิจิทัล เช่น Meta, OpenAI, TikTok, Apple, Tencent, Alibaba, Huawei ซึ่งปัจจุบันได้มีผลิตภัณฑ์และให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่แล้วในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มการเงินและการร่วมลงทุน เช่น CITIC และ Ping An ซึ่งมีความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) หรือกรณีธุรกิจการค้า เช่น บริษัท Walmart หนึ่งในผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในโลก มีแผนขยายสำนักงานในประเทศไทย เพื่อจัดหาและกระจายสินค้าจากประเทศไทยไปยังเครือข่ายของบริษัททั่วโลกเพิ่มเติม

ส่วน Huawei ได้ตัดสินใจสร้างศูนย์พัฒนาบุคลากรด้าน Cloud และ AI ในไทย โดยมีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรไทย 50,000 คน ภายใน 5 ปี อีกทั้งมีแผนจะเชิญบริษัทพันธมิตรจากจีนมาศึกษาโอกาสขยายธุรกิจในไทยในช่วงปลายปีนี้ด้วย

“ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันของบีโอไอ และทีมงานท่านนายกฯ ในการเดินหน้าติดตามความคืบหน้าของบริษัทรายสำคัญที่ได้พบ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย ซึ่งในปี 2566 คาดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 6 แสนล้านบาท และเชื่อว่าในปี 2567-68 จะเป็นโอกาสทองของประเทศไทย ที่จะช่วงชิงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สำคัญ เพื่อเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยคาดว่าตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2567 จะเติบโตจากปีที่ผ่านๆ มาอย่างมีนัยสำคัญ”

  • เอกชนพร้อมร่วมโรดโชว์

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2567 หอการค้าฯจะสานต่อในการเดินหน้าขยายโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นลู่ทางให้กับผู้ประกอบการไทยได้ขยายตลาดที่มีศักยภาพ รวมถึงการเดินสายโรดโชว์ร่วมกับรัฐบาลเพื่อดึงดูดการลงทุนในประเทศยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งจีน อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย และภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งจะเป็นอีกส่วนสำคัญนอกจากภาคการท่องเที่ยวที่จะให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าขยายตัวได้ที่ 2.8-3.3% ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ได้คาดการณ์ไว้

ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากที่จะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และค่าจ้างขั้นตํ่าในปีหน้า จะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการปรับตัวสูง จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนใหม่ หรือขยายการลงทุนในไทย ซึ่งภาครัฐต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3949  วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2566