ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ตัวเลขไม่จริง ไกล่เกลี่ยไม่จบเพียบ

19 ธ.ค. 2566 | 08:58 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2566 | 09:54 น.

การลงทะเบียนหนี้นอกระบบ 18 วันแรก แหล่งข่าวกระทรวงมหาดไทย เผย งานล้นมือเจ้าหน้าที่ ข้อมูลตัวเลขไม่จริง ยันมีเคสไกล่เกลี่ย ลูกหนี้-เจ้าหนี้ ไม่จบเพียบ แต่บันทึกในระบบว่าเสร็จสิ้น พบลูกหนี้หัวหมออีกเพียบ

หลังจากที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในโครงการแก้หนี้นอกระบบ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th/ , แอปฯ Thai id , สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 , ที่ว่าการอำเภอ และ สำนักงานเขตทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา โดยให้สามารถลงทะเบียนได้ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้

แม้ปัจจุบันจะมีการลงทะเบียนเข้ามาแล้ว คิดเป็นยอดหนี้ รวม 6,085.977 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 100,467 ราย ส่วนเจ้าหนี้มาลงทะเบียนแล้ว 71,202 ราย แต่การเริ่มดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในการไกล่เกลี่ย สามารถทได้ไม่รวดเร็วมากนัก

ล่าสุดในการประชุมประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ครั้งที่ 1/2566 ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานก็ได้มีแนวทางในการดำเนินงานออกมาชัดเจนมากขึ้น 

ขั้นตอนการดำเนินงาน 

  • ขั้นตอนที่ 1 ลงทะเบียน 1 ธ.ค. 66 - 29 ก.พ. 67 
  • ขั้นตอนที่ 2 ไกล่เกลี่ยและติดตามผล
  • ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดระยะเวลา เป้าหมาย และตัวชี้วัด

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

  • กระทรวงมหาดไทย (หน่วยงานหลัก)
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • สำนักนายกรัฐมนตรี

ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ตัวเลขไม่จริง ไกล่เกลี่ยไม่จบเพียบ  

แหล่งข่าวจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้สะท้อนปัญหาจากเจ้าพนักงานปกครองมายังฐานเศรษฐกิจ โดยระบุว่า การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากการสื่อสารและออกคำสั่งภายในยังคงสับสน และไม่ชัดเจน

“หลังจากประชาชนมาลงทะเบียนแล้วต้องทำอย่างไรต่อ? ในกลุ่มไลน์ยังไม่มีคำสั่งใด ๆ แม้จะสอบถามอยู่ตลอด เจ้าหน้าที่ต้องนัดประชุมงานกันเองว่าต้องทำอย่างไร ส่วนมากก็คอยติดตามจากหน้าข่าวด้วยตัวเอง”

 

 

แหล่งข่าวสรุปปัญหาการเกี่ยวกับการลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบได้ดังนี้

 

1.เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ

  • ในแต่ละพื้นที่ที่รับผิดชอบ มีเจ้าหน้าที่ปกครองจำนวนไม่มาก เพียง 2-5 คน เท่านั้น แต่รับลงทะเบียน 5-10 คนต่อวัน ซึ่งลูกหนี้แต่ละรายที่เดินทางมาลงทะเบียน เพราะใช้แอปฯ หรือ เว็บไซต์ไม่เป็น และยังมีความไม่เข้าใจในตัวโครงการ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการอธิบายมากพอสมควร
  • นอกจากงานรับลงทะเบียนแล้ว เจ้าหน้าที่ยังต้องจัดเวลาในการโทรศัพท์เพื่อนัดหมายไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ด้วย แต่ละวันต้องโทรศัพท์คุยราว 10 สาย ซึ่งแต่ละเคสไม่สามารถปิดจบได้ด้วยการโทรศัพท์คุยครั้งเดียว และส่วนมากเจ้าหนี้มักจะไม่ยอมมาเจอหน้าเพื่อไกล่เกลี่ย

 

2.ลูกหนี้ที่มาลงทะเบียน

  • ลูกหนี้หลายราย ราว ๆ 30-50% จำไม่ได้ว่าส่งเงินคืนเจ้าหนี้ไปแล้วเท่าไร ซึ่งการจดบันทึกอยู่ที่ฝั่งเจ้าหนี้ทั้งหมด การดำเนินการไกล่เกลี่ย จึงทำได้ยากมาก ๆ 
  • ลูกหนี้มาลงทะเบียนเข้าใจผิดว่ารัฐจะให้เงินไปใช้หนี้ จึงอยากได้เงินก้อนเอาไปปิดหนี้เอง (เข้าข่ายลูกหนี้หัวหมอ) แต่แท้จริงแล้วอาจมีเจตนาแอบแฝงเบี้ยวเจ้าหนี้ และนำเงินไปใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งเคสลักษณะนี้ ต้องอธิบายมากพอสมควรเพื่อทำความเข้าใจ บางรายถึงกับบอกว่า “ไม่ได้เงินก็ไม่ลงทะเบียน”

 

3.นิยามของคำว่าไกล่เกลี่ย

  • การไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้ และลูกหนี้ ทำได้ยาก ซึ่งตั้งแต่ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน มีการไกล่เกลี่ยที่เป็นไปได้ด้วยดีไม่กี่เคส และยังไม่ถึงที่สิ้นสุดของเรื่องด้วย 
  • ขณะเดียวกันการไกล่เกลี่ยนั้น หากไม่สามารถตกลงกันได้ ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ เคสนี้ก็จะถูกปิดจบไป และขึ้นบันทึกสถิติว่า “ผ่านการไกล่เกลี่ยแล้ว” แม้เคสจะไม่สิ้นสุดลงด้วยการหาข้อยุติได้ลงตัวก็ตาม นอกจากนี้ยังมีเจ้าหนี้บางรายไม่ยอมแม้แต่จะเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย

ทั้งนี้ ในการลงทะเบียนโครงการแก้หนี้นอกระบบนั้น จะมีช่องที่ให้ประชาชนกรอกเพื่อขอรับความช่วยเหลือรวมทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่

  • ต้องการให้ช่วยไกล่เกลี่ยหนี้
  • ต้องการเงินกู้ฉุกเฉินหรือไม่
  • ต้องการหาอาชีพเสริม หรือหางานทำ
  • อื่น ๆ

หากลูกหนี้ ต้องการให้ช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ เจ้าหน้าที่ปกครองก็จะติดต่อไปยังเจ้าหนี้ให้ , หากต้องการเงินกู้ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่จะส่งเรื่องต่อไปยังธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หรือถ้าต้องการหารายได้เพิ่ม ก็จะประสานไปยังกรมการจัดหางาน แม้เคสเหล่านี้จะยังไม่สิ้นสุด แต่ด้วยระบบของกรมการปกครอง ก็จะบันทึกสถิติไว้ว่า ไลก่เกลี่ยสำเร็จเสร็จสิ้น

“มีหลายเคสที่ส่งไปหาธนาคาร แล้วสุดท้ายจบที่กู้ไม่ได้ เพราะติดหนี้เดิมอยู่ หรือติดเครดิตบูโร บางรายส่งเรื่องไปกรมจัดหางานแต่ก็ไม่สามารถหางานที่เหมาะสมกับลูกหนี้ได้ เคสเหล่านี้จะบันทึกว่าไกล่เกลี่ยเสร็จสิ้นทั้งหมด”

ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ตัวเลขไม่จริง ไกล่เกลี่ยไม่จบเพียบ

ทั้งนี้ไม่ว่าเคสการไกล่เกลี่ยหนี้หน้างานจะมีปัญหาอย่างไร แต่คณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้กำหนดตัวชี้วัด (KPI) การดำเนินการทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย

  • การไกล่เกลี่ยของกรมการปกครอง อย่างน้อย 80% (สามารถตกลงกันได้ไม่น้อยกว่า 50%)
  • การบังคับใช้กฎหมาย สตช. ดำเนินคดี 70% ของเรื่องรับดำเนินการ
  • การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ 70% ของเรื่องรับดำเนินการ 

อย่างไรก็ตาม การเปิดให้ลงทะเบียนโครงการแก้หนี้นอกระบบ ณ ปัจจุบัน เรียกได้ว่า เพิ่งเริ่มต้น เจ้าหน้าที่ปกรองหลายรายระบุว่า ยังมีประชาชนที่ไม่กล้ามาลงทะเบียนอีกจำนวนมาก และคาดว่าจะทยอยมาในช่วงต่อจากนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกาคลัง เคยคาดการณ์ไว้ว่า หนี้นอกระบบน่าจะมีมูลค่าทั่วประเทศมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบัน ผู้ที่มาลงทะเบียน มีมูลค่าหนี้รวมกันทั้งประเทศเพียง 6,085.977 ล้านบาท หรือราว ๆ 12% เท่านั้น