เปิดสาเหตุ “คมนาคม” เลื่อนเก็บค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีชมพู”

25 ธ.ค. 2566 | 06:50 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2566 | 07:41 น.

“คมนาคม” เปิดสาเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า “สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี” หลุดยาว 4.3 กม. สั่งคุมเข้มมาตรการด้านความปลอดภัย มั่นใจไม่กระทบขบวนรถไฟฟ้า จ่อถกเอกชนเลื่อนเก็บค่าโดยสาร หวังชดเชยประชาชนใช้บริการช่วงทดสอบระบบ 7 สถานี

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีรางนำไฟฟ้า (Conductor rail) ที่เป็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูหลุดร่วงจากทางวิ่งลงชั้นพื้นถนน (ไม่ใช่รางรถไฟฟ้าที่รองรับล้อเหล็ก) และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทานได้รับความเสียหาย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อเวลา 04.45 น. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่ผ่านมา บริเวณสถานีสามัคคี

เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เป็นผลจากการดึงเข็มพืดเหล็ก (sheet pile) ของโครงการระบบสาธารณูปโภคบริเวณด้านล่างของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ออกตามขั้นตอนก่อสร้างเมื่องานแล้วเสร็จ ซึ่งอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้ระดับของรางนำไฟฟ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

เปิดสาเหตุ “คมนาคม” เลื่อนเก็บค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีชมพู”

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ส่งผลให้เมื่อมีตัวรับกระแสไฟฟ้า (Collector Shoe) ที่ติดกับตัวรถตรวจความพร้อมของเส้นทาง (รถไฟฟ้าหมายเลข PM40) ซึ่งกำลังเคลื่อนที่ ไปกระแทกส่งผลให้เกิดการขยับตัวของรางนำไฟฟ้า ออกจากจุดยึดแล้วร่วงลงมาด้านล่างบนถนนบางส่วน ประมาณ 300 เมตร และส่วนใหญ่ติดค้างอยู่บนโครงสร้าง ระหว่างสถานีแคราย ถึงสถานี ระยะทางรวมประมาณ 4.3 กม.

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีรอยไหม้จากประกายไฟที่เกิดจากการลัดวงจร 1 จุด บริเวณคานทางวิ่ง เหนือสถานที่ก่อสร้างโครงการระบบสาธารณูปโภคดังกล่าว (ใกล้ปากซอยติวานนท์ 34)

“ยืนยันว่าจะผลกระทบที่เกิดขึ้นผู้รับเหมาพร้อมชดเชย เนื่องจากมีการทำประกันที่ครอบคลุมอุบัติเหตุเหล่านี้อยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรน่ากังวล ส่วนกรณีที่จะมีการติดแบล็คลิสต์ผู้รับเหมาโครงการในอนาคตหรือไม่ นั้น ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยเบื้องต้นได้มีการสั่งให้หยุดการให้บริการใน 7 สถานี หรือตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี-สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเป็นเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม ที่ผ่านมาแล้ว” นายสุรพงษ์ กล่าว

ขณะที่แนวทางการป้องกัน จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการกันพื้นที่ด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันเหตุ พร้อมตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก รวมถึงได้กำชับให้มีการเดินขบวนรถตรวจสอบความพร้อมเส้นทางโดยวิ่งสำรวจตอนตี 4 ก่อนเปิดให้บริการทุกวัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้รับปลอดภัยตลอดการเดินทาง และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้มงวดการเข้าทำงานของผู้รับจ้างในเขตระบบรถไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อการเดินรถไฟฟ้าอีกด้วย

 

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น ได้แก่ 1.การเข้าพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานผู้คุมงานต้องมีการแจ้งล่วงหน้าทุกครั้ง 2.กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาต้องอยู่ครบถ้วนทุกราย ในกรณีที่จะมีการเคลื่อนย้ายสิ่งก่อสร้าง โดยจะต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของหน่วยงานคมนาคม และ 3.การส่งมอบงานและพื้นที่ต้องมีการตรวจสอบและเซ็นรับทราบทุกครั้ง หากทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ไม่ครบก็ห้ามดำเนินการในพื้นที่ก่อสร้างเด็ดขาด

 

 “จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นเหตุสุดวิสัย และส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้รับเหมา ซึ่งในประเด็นนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเป็น บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้เคลื่อนย้าย หรือเป็นผู้รับเหมาที่ทางบริษัทฯ จ้างมาต่อไป โดยได้เน้นย้ำว่าเหตุการณ์เหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งหลังจากนี้ทางกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รฟม. ขร. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (เอ็นบีเอ็ม) จะมีการหารือร่วมกันถึงแนวทางการชดเชยผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับ โดยเบื้องต้นอาจมีการพิจารณายืดเวลาการให้บริการสายสีชมพูฟรีต่อไปก่อน หลังจากที่เดิมมีกำหนดเตรียมเปิดให้บริการแบบเชิงพาณิชย์ ในวันที่ 3 มกราคม 2567” นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี กล่าวว่า กรณีที่มีรางนำไฟฟ้า (Conductor rail) ที่เป็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูหลุดร่วงจากทางวิ่งลงชั้นพื้นถนน (ไม่ใช่รางรถไฟฟ้าที่รองรับล้อเหล็ก) และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทานได้รับความเสียหาย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อเวลา 04.45 น. ที่ผ่านมา บริเวณสถานีสามัคคี (PK04) นั้น เบื้องต้นรับทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นช่วงที่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC บริษัทผู้รับเหมาอยู่ระหว่างรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคเพื่อคืนพื้นผิวจราจร 

 

“เมื่อวานเหตุกาณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดในช่วงวันหยุด เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่บริษัทได้ติดต่อประสานงานไปยังต่างประเทศเพื่อจัดหาอะไหล่มาติดตั้งซ่อมแซม เนื่องจากอะไหล่สำรองในปัจจุบันมีเพียง 100 ชิ้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซมในช่วงบริเวณที่เกิดเหตุ คาดว่าจะใช้อะไหล่ประมาณ 1,700 ชิ้นส่วน หากได้ชิ้นส่วนอะไหล่ครบแล้วใช้ระยะเวลาไม่นานในการติดตั้งซ่อมแซม นอกจากนี้บริษัทพยายามเร่งรัดหาผู้รับเหมาติดตั้งให้แล้วเสร็จ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก STEC อย่างเต็มที่” 

 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า บริษัทยืนยันว่าปัจจุบันยังเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูตามปกติ โดยจะเปิดให้บริการเพียง 23 สถานี จากสถานีมีนบุรี-สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ตั้งแต่  06.00-00.00 น.และปิดให้บริการ จำนวน 7 สถานี ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี-สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด โดยผู้โดยสารที่ใช้บริการจะต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ เนื่องจากเป็นจุดสับเปลี่ยนรางรถไฟฟ้าโมโนเรล ทำให้ขบวนรถวิ่ง 2 เส้นทาง คือ สถานีมีนบุรี-สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ และสถานี โทรคมนาคมแห่งชาติ-สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 

 

“ส่วนการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์หรือการเก็บเก็บค่าโดยสารในวันที่ 3 ม.ค.67 นั้น หากทางบริษัทสามารถจัดหาอะไหล่มาดำเนินการซ่อมแซมได้ทันจะยืดกำหนดการเปิดให้บริการตามเดิม แต่ถ้ากรณีที่จัดหาอะไหล่ไม่ทันอาจต้องหารือร่วมกับ รฟม.เพื่อขยายเปิดให้บริการฟรีแก่ประชาชนอีกครั้ง” 

 

สำหรับการออกแบบรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้นได้มีการออกแบบทดสอบระบบที่มีความเหมาะสมและปลอดภัย หากมีการเกาะยึดแน่นมากจะส่งผลกระทบต่อขบวนรถที่ให้บริการ ทั้งนี้เมื่อมีการเกิดเหตุขัดข้องระบบไฟจะถูกตัดทันที