ปัจจุบันในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีรถไฟฟ้าเริ่มทยอยเปิดให้บริการอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ที่เพิ่งเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการฟรียาวถึงหลังปีใหม่ 2567 เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชนสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวกสบายมากขึ้น
ในอนาคตภาครัฐยังเร่งดำเนินการผลักดันรถไฟฟ้าอีกหลายสายที่จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าให้สมบูรณ์มากขึ้น เช่น รถไฟฟ้าต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 2.ตลิ่งชัน-ศิริราช 3.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต,รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ,รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี และรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ฯลฯ
หลังจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ไม่นานกลับมีรถไฟฟ้าบางเส้นทางยังติดปัญหาในหลายเรื่อง ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยกทม.มีแนวคิดจะมอบโครงการลงทุนใหม่เพื่อพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบการลงทุน เนื่องจาก กทม.เล็งเห็นว่าชณะนี้มีปัจจัยด้านอื่นที่ต้องเร่งนำงบประมาณไปดำเนินการเพื่อประชาชน อาทิ ด้านการศึกษา และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
นายชัชชาติ ระบุอีกว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟฟ้า นับเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เชื่อว่าภาครัฐจะมีงบประมาณเร่งดำเนินการอยู่แล้ว การมอบให้ รฟม.กลับไปผลักดันต่อจึงถือเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะ รฟม.จะสามารถวางแผนการพัฒนาโครงขายระบบรางให้เป็นระบบเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการใช้บริการต้องหลังจากนี้ต้องหารือในระดับนโยบายระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอแนวคิดไปยังนายกรัฐมนตรี ในคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)
สำหรับรถไฟฟ้าของกทม.ที่ต้องการโอนให้รฟม.ดูแล จำนวน 4 สาย ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าการลงทุน 27,884 ล้านบาท ที่ผ่านมาโครงการนี้กทม.เคยผลักดันโดยศึกษาข้อมูลด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์การเงิน สิ่งแวดล้อม รวมถึงรูปแบบความเหมาะสมด้านการลงทุนโครงการมาแล้ว
เมื่อย้อนดูผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา พบว่า รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว ซึ่งโครงการจะประมูลโดยใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี ทั้งนี้การก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล- ทองหล่อ ระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง- พระราม 3 และระยะที่ 3 ช่วงส่วนต่อขยายพระราม 3-ท่าพระ สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 8,000-20,000 คนต่อชั่วโมง จากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่เปิดให้บริการ จำนวน 97,000 คน-เที่ยวต่อวัน
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า - ตลิ่งชัน โดยก่อนหน้านี้ กทม.ทำการศึกษาความคุ้มค่าทางการลงทุน พบว่าโครงการจะมีประชาชนมาใช้บริการประมาณ 35,000 คนเที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่สูงนัก จึงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาดำเนินการ
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลการศึกษามีระยะทาง 19.7 กิโลเมตร ประเมินใช้วงเงินลงทุน 1.3 แสนล้านบาท พบว่า ผลการศึกษารูปแบบการลงทุนจะจัดทำลักษณะ PPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้ในปี 2572 ที่เปิดใช้บริการจะสูงถึง 82,695 คนเที่ยวต่อวัน และปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 138,744 คนเที่ยวต่อวัน และในปี 2578 กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะทำให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 165,363 คนเที่ยวต่อวัน
ปิดท้ายที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 ช่วงสถานีประชาธิปก (G4) ระยะทาง 0.9 กิโลเมตร (กม.) หรือ 900 เมตรวงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งกทม.เคยมีแผนจะศึกษารายละเอียดและก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 เพิ่มอีก 1 สถานีคือ สถานีประชาธิปก (G4) แต่ปัจจุบันทางกลุ่มสยามพิวรรธน์ เจ้าของศูนย์การค้าไอคอนสยาม ยังไม่ได้สนับสนุนงบลงทุนดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 คาดว่าน่าจะติดปัญหาในเรื่องปริมาณผู้โดยสารที่ลดลงทำให้ไม่ได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อลงทุนโครงการฯ ระยะที่ 2
ไม่เพียงเท่านั้นยังพบว่าการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 1 ผลตอบรับยังไม่เป็นที่น่าพอใจเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ลดลงอยู่ที่ 846-1,547 เที่ยว-คนต่อวัน โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีทอง มีผู้โดยสารเฉลี่ย 5,000 เที่ยว-คนต่อวัน ซึ่งมีรายได้ประมาณ 2.4 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้ผลประกอบการขาดทุนเฉลี่ย 12.6 ล้านบาทต่อเดือน
ปัจจุบันกทม.ได้มีการปรับแผนการให้บริการเดินรถทั้งในเรื่องของความถี่การเดินรถและช่วงเวลาการให้บริการให้สอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากเดิมที่คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปีแรกที่เปิดให้บริการที่ 42,260 เที่ยว-คนต่อวัน
ล่าสุดกทม.มีแนวโน้มที่จะพิจารณาโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองให้รฟม.ดูแลเช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องพิจารณารายละเอียดหลายเรื่อง เนื่องจากทาง กทม. ได้มอบหมายบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที เป็นคนบริหารดูแล คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาได้เร็วๆนี้
หากกทม.มีแนวคิดดังที่จะโอนรถไฟฟ้าทั้ง 4 เส้นทางให้รฟม.ดูแล เป็นไปได้ว่ากทม.อาจกังวลต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและไม่ต้องการให้โครงการเหล่านี้ซ้ำรอยเดิมและไม่ต้องการผูกมัดตนเองเป็นผู้รับภาระเหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ที่ปัจจุบันยังไม่ยอมชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กว่า 50,000 ล้านบาท จนกลายเป็นหนี้ก้อนโตที่รอวันจะแลกสัญญาสัมปทานออกไป 30 ปีให้กับเอกชนหรือไม่
หลังจากนี้คงต้องจับตาดูหากโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 4 สายอยู่ในมือรฟม.แล้วจะสามารถผลักดันโครงการเหล่านี้ได้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องหรือไม่