ชีพจรเศรษฐกิจไทยปี 2567 ความท้าทายวัดฝีมือรัฐบาล "เศรษฐา"

01 ม.ค. 2567 | 01:01 น.

วัดชีพจรเศรษฐกิจไทยปี 2567 กับความเสี่ยงที่รอคอยอยู่ข้างหน้า ความท้าทายวัดฝีมือรัฐบาล "เศรษฐา" รับมือเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจ ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 3.2% เช็คข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2567 หลายหน่วยงานประเมินเบื้องต้นน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง หากเทียบกับปี 2566 ที่ผ่านมา และน่าจะผ่านท้องช้างมาแล้วในช่วงมรสุมโควิด-19 แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ไม่อาจประมาทได้ ท้าทายฝีมือรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” บริหารราชการแผ่นดิน และจัดทำนโยบายประคับประคองเศรษฐกิจไทย และเครื่องยนต์หลักอย่างการส่งออกให้ขยายตัวต่อไปได้

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.2% 

แต่การจะขยายตัวให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ต้องฝากความหวังไว้ที่ ปัจจัยหลักที่จะเข้ามาสนับสนุนทั้ง การกลับมาขยายตัวของการส่งออก การขยายตัวในของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เช่นเดียวกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว 

สศช.ประเมินเอาไว้คร่าว ๆ ว่า ถ้าเป็นไปตามแผนการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัวอยู่ที่ 3.2% และ 2.8% ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.7 – 2.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ของ GDP

 

ชีพจรเศรษฐกิจไทยปี 2567 ความท้าทายวัดฝีมือรัฐบาล \"เศรษฐา\"

 

ความสำคัญที่ห้ามมองข้ามในปี 2567 นั่นคือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะมีผลโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เบื้องต้นมีด้วยกัน 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้

แรงขับเคลื่อนทางการคลังลดลง

กรณีนี้เป็นผลจากปัจจัยข้อจำกัดหลายเรื่อง โดยเฉพาะความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2567 ในกรณีฐานคาดว่างบประมาณรายจ่ายประจ่าปีงบประมาณ 2567 จะสามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 หรือล่าช้าออกไปจากกรณีปกติ 7 เดือน เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้การเบิกจ่ายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในช่วงไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2567

ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่าย โดยเฉพาะงบลงทุนภาครัฐในปี 2567 ต่ำกว่าปีงบประมาณก่อน และในกรณีฐานคาดว่าในปีงบประมาณ 2567 จะมีเงินจากการเบิกจ่ายงบลงทุน 5.72 แสนล้านบาท เทียบกับ 6.08 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 

เช่นเดียวกับพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) มีแนวโน้มลดลง หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อลดผลกระทบ ช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทย ปรับเพิ่มขึ้นจาก 41.2% ของ GDP ณ สิ้นปี 2562 เป็น 63.8% ต่อ GDP ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 3 ปี 2566 

ขณะที่ รายได้ของรัฐบาลมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยสัดส่วนรายได้ของรัฐบาลต่อ GDP ในปีงบประมาณ 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 14.6% ของ GDP เทียบกับ 15.2% ในปีงบประมาณ 2562 เงื่อนไขดังกล่าว ส่งผลให้พื้นที่ทางการคลังในการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคตลดลง

 

ชีพจรเศรษฐกิจไทยปี 2567 ความท้าทายวัดฝีมือรัฐบาล \"เศรษฐา\"

 

ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง 

อาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นพิเศษ (SMLs) ต่อสินเชื่อรวมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในไตรมาสที่สองของปี 2566 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.3% และ 12.1% เทียบกับ 7.6% และ 11.7% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ 4.5% และ 3.2% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาด ตามลำดับ 

เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่สองของปี 2566 อยู่ที่ 90.7% เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า และยังคงสูงกว่าเมื่อเทียบกับ 82.6% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 โดยภาระหนี้สินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนรายได้น้อย ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้ภาคเกษตรกรรมถือเป็นข้อจ่ากัดที่อาจส่งผลต่อต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ ภายในประเทศและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม 

ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร 

จากรายงานของ World Meteorological Organization (WMO) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ประมาณการว่าสภาวะเอลนีโญ (El Niño) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 จะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 

โดยข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 1,161 มิลลิเมตร ต่ำกว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 30 ปี (2536 - 2565) ที่เฉลี่ย 1,361 มิลลิเมตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำใช้การได้จริงในเขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ณ เดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ 6,419 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 25.8% ของความจุกักเก็บทั้งหมด ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีในช่วงเวลาเดียวกันที่ 7,831 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 31.5% ของความจุกักเก็บทั้งหมด 

สะท้อนน้ำต้นทุนที่มีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะหากปริมาณน้ำฝนในระยะต่อไปต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวนาปรังในฤดูกาลเพาะปลูก ปี 2567 และนาปีในฤดูกาลเพาะปลูก ปี 2567/2568 

 

ชีพจรเศรษฐกิจไทยปี 2567 ความท้าทายวัดฝีมือรัฐบาล \"เศรษฐา\"

 

เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ชะลอตัวมากกว่าที่คาด 

มีเงื่อนไขความเสี่ยงที่ต้องติดตามและประเมิน สถานการณ์อย่างใกล้ชิด นั่นคือ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน 

รวมทั้งการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจยกระดับความรุนแรงจนส่งผลให้การแบ่งแยกเชิงภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ (Geo-economic fragmentation) มากขึ้นและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมทั้งความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนมากขึ้น 

รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีนจากปัญหาหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์และการชะลอตัวลงของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศจนมีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด

รวมถึงความผันผวนของระดับราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามในอิสราเอล อาจสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นกว่าที่คาดและส่งผลต่อการด่าเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางให้กลับมาเข้มงวดอีกครั้ง และการลดลงของพื้นที่ทางการคลังในหลายประเทศที่เผชิญกับภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งหมดนี้คือความท้าทายของรัฐบาลที่ต้องหารทางรับมือหากต้องการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย อย่างน้อย 3.2%