ปี 2566 ที่ผ่านพ้นไปเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลภาคการส่งออกติดลบ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว ภาคท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะการลงทุนของภาคเอกชน แม้ตัวเลขขอรับการส่งเสริมคาดจะมากกว่า 6 แสนล้านบาท แต่การลงทุนจริงยังต้องรอเวลา ขณะที่ความล่าช้าในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่ ส่งผลการใช้จ่ายเม็ดเงินภาครัฐไม่เป็นไปตามแผน งบประมาณปี 2567 ยังล่าช้า มีผลจีดีพีประเทศไทยช่วง 9 เดือนแรกเติบโตเพียง 9%
ขึ้นปีใหม่ 2567 ปีมะโรง-งูใหญ่ ผู้นำภาคเอกชนและกูรูเศรษฐกิจ ต่างมองทิศทางประเทศไทยจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์ 10 ซีอีโอ เพื่อฉายภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางหรือแนวโน้มการฟื้นตัวได้ดี พร้อมมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจยิ่ง
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้น ปัจจัยบวกมาจากแนวโน้มการฟื้นตัว ของภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนอีเวนท์โปรโมทเทศกาลสำคัญของประเทศ รวมถึงการขยายมาตรการวีซ่าฟรีให้กับหลายประเทศที่เป็นเป้าหมายดึงดูดการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 33-35 ล้านคน
ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะหากนโยบายเติมเงินในดิจิทัล วอลเล็ตสามารถดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ไทยได้อีกอย่างน้อย 1-1.5% ส่วนมาตรการ e-Refund คาดจะมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านคน คิดเป็นวงเงินใช้จ่ายประมาณ 7 หมื่นล้านบาท มีผลช่วยให้ GDP ปี 2567 ขยายตัวได้ 0.15-0.2% โดยภาครัฐจะเสียรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ควบคู่ไปกับความชัดเจนของมาตรการแก้หนี้ทั้งในและนอกระบบของรัฐบาลที่ถูกดันเป็นวาระแห่งชาติ จะช่วยผ่อนคลายความกังวลของประชาชนและสร้างกำลังซื้อให้กับเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น
“หอการค้าฯประเมินว่าจีดีพีหรือเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 น่าจะเติบโตได้ราว 2.8 ถึง 3.3% จากปี 2566 คาดจะเติบโตได้เพียง 2.4% โดยภาคการส่งออกคาดว่าน่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และนโยบายการต่างประเทศเชิงรุกของรัฐบาลที่เน้น 10 ประเทศเป้าหมาย จะมีส่วนขยายการส่งออกได้ทั้งปีราว 2.0 ถึง 3.0% และภาพรวมเงินเฟ้อจะขยับขึ้นในระดับ 1.7 ถึง 2.2% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ที่มีส.อ.ท.เป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวได้ 2.8 ถึง 3.3% จากทิศทางเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีผลต่อโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรปยังมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคการส่งออกของไทย
ขณะที่ยังต้องจับตาสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics ) ของหลายคู่ของโลก เช่น จีน-ไต้หวัน กรณีช่องแคบไต้หวัน จีน-ฟิลิปปินส์ กรณีทะเลจีนใต้ และความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในเดือนมกราคม 2567 และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายน 2567 จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายและทิศทางของโลกในด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และอื่น ๆ
ที่น่าห่วงต่อภาคการผลิตของไทยในเวลานี้คือมีสินค้าราคาถูก คุณภาพต่ำ มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยนำเข้าจากต่างประเทศทั้งที่ถูกกฎหมาย และลักลอบนำเข้าโดยสำแดงเท็จในลักษณะเดียวกับหมูเถื่อน เข้ามาทำลายวงจรการผลิตและซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องในประเทศ ส่งผลต่อธุรกิจขาดทุนสะสมต่อเนื่อง กระทบแล้วมากกว่า 20 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นจะลามเพิ่มเป็นมากกว่า 30 อุตสาหกรรม และอาจต้องทยอยปิดกิจการมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2567 เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรมเหล็ก
รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า “นิยามเศรษฐกิจปีหน้า เป็นเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญภัยคุกคาม เป็นเศรษฐกิจที่จะต้องทนทานต่อแรงกดดันจากภัยคุกคามในหลายมิติ ทั้งมิติด้านสภาพแวดล้อม มิติด้านการเมืองระหว่างประเทศ มิติด้านภูมิรัฐศาสตร์ และมิติที่ต้องคำนึงถึง
“ตัวแปรที่เป็นห่วงเศรษฐกิจไทย คือ การที่รัฐบาลทำอยู่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มไปที่ 62% ถ้าหากมีการใช้ มาตรการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจขยับเป็น 65-66% จริงๆไม่ถึงกับอันตราย แต่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการคู่ขนานกันเพื่อให้เห็นภาพสัดส่วนหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่เป็นแนวโน้มที่สามารถคลี่คลายลงได้”
สำหรับมาตรการรับมือสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำการบ้านและต้องทำมากกว่านี้ คือ ผลักดันมาตรการเชิงโครงสร้าง มาตรการด้านการส่งออก มาตรการท่องเที่ยว มาตรการด้านเกษตร โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี รวมทั้งพยายามนำดิจิทัลมาช่วยเอสเอ็มอี ปรับโครงสร้างการแข่งขัน
ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่มีแต่รายจ่าย จึงต้องมีมาตรการป้องปรามหรือรับมือเพื่อไม่ให้เกิดภาพว่ารัฐบาลมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการคลัง โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้กลไกโครงสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
นอกจากปัญหาหนี้สาธารณะแล้ว รัฐบาลยังมีข้อจำกัดด้านการคลัง เพราะงบประจำที่นับวันขยายตัวมากขึ้น ซึ่งน่าเป็นห่วง โดยปกติงบลงทุนควรจะมีกว่า 30% แต่ตอนนี้มีเพียงกว่า 20% ซึ่งงบลงทุนนับวันจะถูกกินจากรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเยอะแยะ มีแต่รายจ่าย สวนทางกับรายได้ที่น้อย ขณะที่โครงสร้างประชากรไทยคนสูงอายุมากขึ้นทุกปี ดังนั้นเหล่านี้จะเป็นข้อจำกัดกับรัฐบาลในเชิงงบประมาณที่รัฐบาลต้องคำนึงถึง
ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังสูงและอยู่คู่กับประชาชนนั้น เพราะแนวทางการลดดอกเบี้ยที่รัฐบาลทำเป็นเพียงแค่ชะลอหรือช่วยผ่อนคลายเพียงส่วนย่อย โดยไม่ได้เป็นการปลดภาระให้ประชาชนและ SME ลืมตาอ้าปากได้ ด้วยการทำให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย ส่วนใหญ่ยังขายสินค้าไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึง SME ด้วยโดยทำต้องให้เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีทิศทางสดใส คาดขยายตัวได้ประมาณ 3 % เนื่องจากมีปัจจัยบวก จากภาครัฐบาลทั้งทางการลงทุนและการบริโภค รวมถึงการส่งออกสินค้าที่คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งภาคเอกชนเติบโตต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวัง ปัญหาด้านภูมิศาสตร์การเมือง(Geopolitical) ปัญหาด้านความยั่งยืน หรือแม้กระทั่งปัญหาห่วงโซ่อุปทาน(supply chain) ซึ่งอาจจะกระทบกับเศรษฐกิจภายในประเทศไทยได้ ดังนั้น มองว่าการเพิ่มศักยภาพด้านเกษตร และการลงทุนในประเทศจะช่วยสร้างความเข้มแข็งในประเทศ รวมถึงการเปิดโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมบริการนอกเหนือจากท่องเที่ยว
ขณะที่ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มชูกำลังปี 2567 มีทิศทางเป็นบวก เนื่องจากผู้บริโภคออกมาทำกิจกรรมตามปกติ ซึ่งต้องใช้พลังงานระหว่างวันในการทำกิจกรรม ดังนั้นเครื่องดื่มให้พลังงานน่าจะเป็นตลาดที่น่าเติบโตไม่น้อยและวางแผนก็จะเน้นสินค้าใหม่และสินค้าเรือธง ในการทำตลาดในไทย และประเทศจีนซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง รองลงมาคือมาเลเซีย เวียดนาม
“ปีหน้ายังคงเป็นปีที่มีความท้าทายจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทั่วโลกและในไทย กลุ่มธุรกิจ TCP พร้อมให้การสนับสนุนในนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เศรฐกิจ และสังคมไทยอย่างเต็มที่”
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยแรงขับเคลื่อนต่างๆ จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกที่ขยายตัว รวมถึงแนวโน้มอุปสงค์ในประเทศที่เห็นถึงการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ต่อเนื่องไปในปี 2567
โดยเฉพาะอัตราการเดินทางท่องเที่ยว การเข้าพักโรงแรม และการจ้างงานที่เป็นไปในทิศทางบวก AWC เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้นอย่างมาก และจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่มีแนวโน้มในการส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความท้าทายในภาคการเงิน ทั้งเรื่องของอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อ การฟื้นตัวของกลุ่มพันธมิตรใน Value Chain เดียวกัน ที่สามารถส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกันในการแบ่งปันทรัพยากร กระบวนการทำงาน การจำหน่ายหรือการบริการ และการเปลี่ยนแปลงทางภาวะเศรษฐกิจโลกและศักยภาพในการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่สามารถส่งผลกระทบต่อเนื่องกับเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวของไทยได้
จากปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดทั้งภาครัฐและเอกชน จึงต้องร่วมรวมพลังเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกันโดยเอกชนเองต้องสร้างโมเดลหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สอดรับ และส่งเสริมกับนโยบายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย และเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกัน
ส่วนภาครัฐ ควรสนับสนุนให้นักธุรกิจและนักลงทุนสามารถมาลงทุนในไทยได้สะดวกมากขึ้น การส่งเสริมให้นักธุรกิจจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศได้สะดวกและให้อยู่ได้ระยะยาวขึ้น ความสะดวกเหล่านี้จะช่วยดึงบุคลากรคุณภาพและบริษัทชั้นนำระดับโลกต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนในไทย และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีหน้ายังคงเผชิญกับปัจจัยความท้าทายเดิม ๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือปัญหาโลกร้อน ทำให้ทุกคนต้องใช้ความระมัดระวัง ต้องมีความยืดหยุ่น เตรียมความพร้อม รวมถึงทบทวนกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
สำหรับความท้าทายหลัก ๆ ของท่องเที่ยวในปี 2567 คือ 1. ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังในการใช้จ่าย 2.ปัญหาเรื่องการแข่งขัน เนื่องจากหลายประเทศเห็นการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ จึงเกิดการแย่งนักท่องเที่ยว 3.ปัญหาแรงงาน ที่ทั้งขาดแคลนและขาดทักษะ 4.ปัญหาการแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฤดูกาลท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาเรื่องมลภาวะ
ดังนั้นสิ่งที่อยากจะฝากรัฐบาลคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 3 หมวด คือ “สร้าง-กระตุ้น และลด” โดย “สร้าง” ได้แก่ การสร้างแบรนด์ดิ้งให้ไทยเป็น premium destination และ ชู soft power ของไทยออกมาให้ชัดเจน สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวเรื่องปลอดภัย สะดวก สะอาด โปร่งใส สร้างมาตรฐานยกระดับทักษะความรู้ มาตรฐานแรงงานควบคู่ไปกับการขึ้นค่าแรง สร้างมาตรฐานของอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างเพื่อการันตรีคุณภาพ ผ่าน platform Thai Select เป็นต้น
ส่วนการ “กระตุ้น” อาทิ การจูงใจให้ยกระดับมาตรฐานการทำงาน ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ กระตุ้นให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่นให้องค์กรที่ดำเนินการด้านความยั่งยืน สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษี หรือ องค์กรที่รับซื้อและสนับสนุนผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ สามารถเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ เป็นต้น
ขณะที่ “ลด” คือการลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินธุรกิจ ทำให้ธุรกิจทำงานอย่างรวดเร็ว คล่องตัว ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงระบบต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม เช่น มีการลดจำนวนใบอนุญาต หรือ ปรับปรุงกฎระเบียบ และกฎหมาย สำหรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปของโลก
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่าที่ผ่านมา วัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลสนับสนุนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนในการสร้างบ้านเพิ่ม ส่วนภาคธุรกิจ และด้านเศรษฐกิจเองมีความอ่อนไหวทั้งปัจจัยจากค่าไฟ ค่าน้ำมัน สงครามที่เกิดขึ้น การค้าที่อาจจะมีโอกาสชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจในยุโรป อเมริกา รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ดี กระทบนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยไม่เป็นไปตามเป้าหมายในปีที่ผ่านมา ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบ
ดังนั้น จึงมองว่าปี 2567 ไม่ง่าย แต่ไม่ใช่ปีที่ไม่มีความหวัง ซึ่งมาตรการต่าง ๆที่รัฐออกมาสนับสนุนหลายเรื่องก็ช่วยกระตุ้นตลาด เช่นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การลดค่าครองชีพต่าง ๆ รัฐบาลมีนโยบายให้ธนาคารออมสินออกมาสนับสนุนบ้านล้านหลัง เงินกู้พิเศษบ้านกรีนโลนเพื่อพลังงานสีเขียว ทั้งหลายเป็นมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนต่อเนื่องในปี 2567 และในระยะยาว
“ที่สำคัญต้องบริหารความเสี่ยงโดยจะไม่เปิดโครงการ เพื่อให้ ชัวร์ว่าเรามีสินค้ารอขายไม่น้อยกว่ายอดขายไปอีก 3ปีข้างหน้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เห็นว่า มันน้อยกว่า ถ้าออกสินค้ามาใหม่หมายความว่าสินค้าของเราขายได้ปริมาณมากขึ้นนี่คือวิธีบริหารความเสี่ยง”
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ประเมินตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2567 น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนจากดอกเบี้ยเริ่มนิ่ง ตลาดคอนโด มีแนวโน้มโตกว่าปี 2566 ราว 5-10% แต่อยากเตือนว่า การขยายโครงการใหม่ต้องระมัดระวัง ไม่ควรขยายมากจนเกินไป เพื่อรอระบายสต็อกที่มีอยู่ออกไปก่อน
“ข้อเท็จจริงปี 2567 อาจจะแย่กว่าปีที่ 2566 แต่ไม่ต้องการให้ตกใจและไม่จำเป็นรีบร้อนขึ้นโครงการ ทยอยเปิดโครงการเล็กๆก่อน เช็คดีมานด์ดีๆ ทำวิจัยตลาดดีๆแน่นอนว่าต้องคุยกับธนาคารก่อน หากจะใช้โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ ที่ปล่อยสินเชื่อ แบงก์จะเข้มงวดมากไม่ปล่อยง่ายๆ”
ขณะตลาดต่างชาติจากที่เคยพึ่งพาจีน อาจจะไม่เป็นตามที่คาดหวัง เพราะปัจจุบัน “จีนป่วย” เศรษฐกิจประเทศไม่ดีและไม่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ต้องยอมรับว่า บริษัทและผู้ประกอบการรายอื่นไม่ได้พึ่งนักท่องเที่ยวจีนมากนัก แต่มี นักท่องเที่ยวรัสเซียและหลายๆชาติเข้ามาทำให้มีรายได้มากขึ้น รวมทั้งพยายามพัฒนาสินค้าตอบโจทย์คนในประเทศ
ส่วนตลาดในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีมองว่า ยังซบเซาทั้งนี้ต้องการ ให้ภาครัฐ เข้ามาปัดฝุ่นเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าโดยเร็วเพราะรัฐบาลเก่ามีแต่แผน ยังไม่ลงมือทำ โดยเฉพาะ โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม3 สนามบิน หรือไฮสปีดเทรน (ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ปัจจุบันยังไม่เห็นราง หรือยังไม่เห็นการเริ่มก่อสร้างซึ่งต้องการเห็นการก่อสร้างเสียที เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้
นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจปี 2567 น่าจะดีกว่าปี 2566 โดยมีปัจจัยบวกทั้งจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว การจ้างงานแนวโน้มดีขึ้นรวมทั้งระบบโลจิสติกส์จะขยายตัวมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลไทยน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนออกมา รวมทั้งมาตรการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบยังคุกรุ่น เช่นกัน คือ ค่าครองชีพยังคงสูง ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในจีนอาจฉุดกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวจีนและเดินทางมาไทยไม่มากนัก ภัยแล้งและเอลนิโญ ภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ ดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวในระดับสูง และหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง
“จากปัจจัยบวกลบดังกล่าวคาดว่า ธุรกิจเช่าซื้อแนวโน้มน่าจะทรงตัว ใกล้เคียงกับปี 2566 ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีการปรับลดยอดขายรถยนต์ลงเรื่อย ๆ ตอนนี้คาดว่าใกล้เคียงยอดขายเป้าหมายที่ 8 แสนคันและยอดขายรถอีวีอีกราว 60,000 คัน”
สำหรับแนวโน้มหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM) แนวโน้มยังไหลต่อเนื่องอาจจะเพิ่มในอัตราไม่สูงนัก ซึ่งจากการพูดคุยกับสมาชิกของสมาคมคิดว่าจะควบคุมได้ เพราะส่วนใหญ่ต่างพยายามหามาตรการช่วยประคองลูกหนี้ในปีหน้าเป็นรายๆเช่นกัน โดยเฉพาะหยุดการไหลของลูกหนี้ SM ไม่ว่าปรับโครงสร้างหนี้ เช่นเดียวกันในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) น่าจะไหลทั้งSM -NPL แต่คงจะไม่สูงนัก
นายดุสิต สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2567 น่าเป็นห่วง เนื่องจากสภาพคล่องของผู้บริโภคลดลง โดยไตรมาสแรก ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษี โครงการ Easy E-Receipt (อีซี่ อี-รีซีท) มาช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย แต่ไตรมาส 2 นั้นยังไม่มีมาตรการอะไรออกมากระตุ้นการใช้จ่ายประชาชน โดยกำลังซื้อ หรือสภาพคล่องถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของภาคธุรกิจปี 2567
ส่วนแผนรองรับที่เจมาร์ทโมบาย วางไว้นั้นจะมุ่งการร่วมมือกับ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด ในกลุ่มเจมาร์ท นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการปล่อยสินเชื่อ โดยก่อนหน้านี้ได้เริ่มปล่อยสินเชื่อให้แบรนด์ซัมซุง ภายใต้แคมเปญ Samsung Finance Plus ผ่อนง่าย ไม่ต้องใช้บัตรเครดิต ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี โดยรวมสมาร์ทโฟนแบรนด์ซัมซุงเติบโต 20% โดย 35% ของยอดขายสมาร์ทโฟนซัมซุงมาจากแคมเปญ Samsung Finance Plus โดยบริษัทจะขายการให้บริการสินเขื่อไปยังแบรนด์เสี่ยวหมี่ วีโว่ และแบรนด์อื่น ๆ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ
“สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการคือการเร่งจัดทำงบประมาณปี 2567 ออกมาให้เร็วสุด ขณะเดียวกันจะต้องมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภาคประชาชนออกมา”